Moses and Monotheism (1939) by Sigmund Freud, trans. by Katherine Jones [PDF]


สมัยยังเด็ก หลังจากที่ได้ดูภาพยนต์เรื่อง The Ten Commandments (1956 ที่แสดงโดย Charlton Heston และ Yul Brynner) มาสอง-สามรอบ ทำให้ความชอบในภาพยนต์เรื่องนี้ นำผมไปสู่การได้อ่านคัมภีร์ไบเบิ้ลฉบับ The Old Testament กอปรกับการที่โตมาพร้อมกับนิตยสารต่วยตูนส์--นิตยสารที่เอาเรื่องราวเกี่ยวกับ UFO, ET, และทฤษฎี conspiracy จากหนังสือต่างๆ อย่างเช่น Chariots of the Gods ของ Erich von Daniken, The Monsters of Loch Ness ของ Roy P. Mackal หรือ The Bermuda Triangle ของ Charles Berlitz เป็นต้น มาขยายซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งสมัยเด็กขณะนั้นอ่านแล้วก็สนุกดีและชวนให้สงสัย แต่ไม่มีสาระอะไร เพราะเป็นเพียง pseudo-science เท่านั้น; ไม่ทราบว่าทุกวันนี้ต่วยตูนส์ยังพิมพ์ขายกันอยู่หรือเปล่า--ทำให้ผมขณะนั้นออกจะคล้อยตามในความเชื่อที่ว่า ชนชาติยิวมีความพิเศษจนไม่น่าจะมีรากเง่ามาจากเผ่าพันธุ์มนุษย์เหมือนอย่างเราๆ. แต่เมื่อโตขึ้น ความเชื่อเช่นนั้นได้หายไปหมดแล้ว เพราะการได้อ่านหนังสือที่มีสาระมากขึ้น โดยเฉพาะ Man's Most Dangerous Myth ของ Ashley Montagu--เล่มนี้จะเอามาแนะนำให้อ่านแน่นอน. ส่วนหนังสือเรื่อง Moses and Monotheism (1939) ของ Sigmund Freud เล่มนี้ เปิดกว้างความคิดในเชิง methodology ให้กับผม แม้ว่านักประวัติศาสตร์จำนวนมากจะมองว่าสมมุติฐานและบทวิเคราะห์ของ Freud ออกจะเป็น pseudo-history มากกว่า--และ Freud ก็เขียนออกตัวด้วยความตระหนักเสมอว่าบทพิสูจน์ของเขายังอ่อนเกินไปเพราะขาดหลักฐานในการสนับสนุน--แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าข้อเท็จจริงในหนังสือเล่มนี้ก็คือ Part III ในส่วนของการนำจิตวิเคราะห์ (psycho-analysis) ของเขามาประยุกต์ในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์. . .

เรารู้จัก Freud ดีจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของเขา แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า เขาก็เป็นคนหนึ่งที่เกาะติดอยู่ในกระแสความรุ่งโรจน์ของการศึกษาโบราณคดีในช่วงสูงสุดของยุคล่าอาณานิคมเช่นกัน โดยเขาเคยเขียนบทความที่วิเคราะห์เชิงโบราณคดี ศาสนา และมานุษยวิทยาด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาก่อนแล้ว ซึ่งต่อมารวบรวมตีพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ Totem and Taboo (1913). แต่ในหนังสือเล่มสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิตนี้ ดูเหมือน Freud จะนำทฤษฎีของเขามาใช้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งน่าสนใจอยู่ไม่น้อยสำหรับนักวิชาการวิชาประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา เพราะประเด็นที่เขาวิเคราะห์ไม่ใช่เนื้อหาของประวัติศาสตร์โดยตรง แต่มุ่งไปที่แรงจูงใจในการเขียนประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปได้ถึงเหตุผลของความแตกต่างระหว่างเอกเทวนิยมของศาสนายิว (Judaism) และเอกเทวนิยมของศาสนาคริสต์ (Christianity) และความขัดแย้งระหว่างยิวและอาหรับ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าทั้งสองนั้นมาจากต้นกำเนิดเดียวกันในกลุ่ม Semitic?

ใน Part I และ II นั้น Freud ซึ่งก็เป็นชาวยิวคนหนึ่ง อธิบายสมมุติฐานของทั้งหมด โดยเขาคิดว่าโมเสสไม่ใช่ชาวยิว แต่เป็นชาวอียิปต์ในตระกูลของชนชั้นสูงหรือไม่ก็อาจเป็นเชื้อสายของกษัตริย์อียิปต์ ในช่วงรัชสมัยของ Akhenaten (Amenhotep IV) (1350 BC) ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่พยายามเปลี่ยนความเชื่อของราชสำนักและชาวอียิปต์จากพหุเทวนิยม (polytheism) ให้มาเป็นเอกเทวนิยม (monotheism) ให้นับถือเทพเจ้า Aton หรือพระอาทิตย์ เพียงองค์เดียว และยกเลิกความงมงายในการประกอบพิธีกรรมและเวทมนตร์ต่างๆ จนทำให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มของนักบวชลัทธิต่างๆ. โมเสส--ซึ่งชื่อของเขาก็เป็นภาษาอียิปต์ โดยอาจมีชื่อเต็มว่า Thothmes-mose--อาจเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนกษัติย์ Akhenaten และพยายามโน้มน้าวชาวยิวให้มานับถือศาสนาใหม่ ซึ่งมีความเชื่อในเอกเทวนิยมเหมือนกัน รวมทั้งการให้ชาวยิวประกอบพิธีสุหนัด (circumcision) เพื่อลดความรังเกียจของชาวอียิปต์ที่มีต่อชาวยิว. แต่เมื่อกษัตริย์ Akenaton ถูกยึดอำนาจ โมเสสจึงอาจเป็นผู้นำพาชาวยิวที่เชื่อเขาจำนวนหนึ่ง ให้อพยพไปยังดินแดนใหม่ (exodus) ที่ Canaan หรืออิสราเอล โดยไม่มีการขัดขวางหรือตามล่าจากทหารอียิปต์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน. แต่เขาอาจถูกชาวยิวสังหารในช่วงที่เกิดการจลาจลในหมู่ผู้อพยพ--อาจที่บริเวณไซไน-ฮอเรบ (Sainai-Horeb) อันเป็นต้นกำเนิดของเทพเจ้า Jehve แต่ความเป็นจริงแล้วอาจเป็นที่อื่นเพราะบริเวณนั้นไม่มีภูเขาไฟ--เมื่อโมเสสกำหนดพันธะผูกพันของมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า (covenant code) (หรือบัญญัติสิบประการตามในคัมภีร์ไบเบิ้ล) ให้เป็นกฏหมาย ซึ่งอาจเข้มงวดมากจนชาวยิวจำนวนหนึ่งต่อต้าน และหันไปนับถือ Jehve แทน.

ส่วนใน Part III ซึ่งแบ่งย่อยออกมาเป็นหลาย section เป็นการอธิบายเหตุผลทางจิตวิเคราะห์ต่อปรากฏการณ์ทางศาสนา ซึ่งออกจะซับซ้อน โดย Freud มองปัญหาทางประวัติศาสตร์เปรียบเหมือนอาการทางจิตของบุคคลที่มีต่อปมบางอย่างที่กดทับอยู่ อันมีผลต่อประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เป็นจริง โดยเขานำสมมุติฐานทั้งหมดที่เขาบรรยายก่อนนี้มาเป็นเงื่อนไขในการวิเคราะห์. Part III นี้ จึงเป็นส่วนที่ผมแนะนำให้ผู้สนใจในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ในเชิงจิตวิทยาได้อ่านกัน. ผมยังไม่เคยเห็นวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยใดๆของนักประวัติศาสตร์ไทย ที่นำจิตวิเคราะห์มาใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษา--หรืออาจเป็นเพราะว่าผมยังอ่านไม่มากพอ?--จึงหวังว่าการแนะนำหนังสือเล่มนี่จะช่วยเปิดกว้างความคิดของนักวิชาการไทยรุ่นใหม่ให้ขยายขอบเขตความคิดให้กว้างไกลออกไป.

ยังมีนักปราชญ์ชาวเยอรมันอีกคนหนึ่งในสำนักแฟรงเฟิรต์ (Frankfert School) ที่ขยายความคิดของ Freud มาผนวกกับความคิดของ Marx จนสังเคราะห์ได้เป็นหนังสือชื่อ Eros and Civilization (1955) นามของเขาคือ Herbert Marcuse ซึ่งน่าสนใจมากๆ แล้ววันหลังผมจะนำมาให้อ่านกันครับ.

ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม PDF >>>https://drive.google.com/file/d/0B-pnQPT61FsJOV9qOXVmUXVtd1k/view?usp=sharing
 

ไม่มีความคิดเห็น


หฤทัยแห่งอันธการ แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

หฤทัยแห่งอันธการ
Heart of Darkness โดย Joseph Conrad
แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

สำนักพิมพ์สมมติ
>> วางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
>> อ่านบางส่วนของ คำนำของผู้แปล
ขับเคลื่อนโดย Blogger.