The Prince (1513) by Niccolo Machiavelli & W.K. Marriott (trans.1908) [PDF]


มีศัพท์ภาษาอังกฤษอยู่คำหนึ่ง คือคำว่า machiavellian ซึ่งแปลว่า เจ้าเล่ห์ หรือมีเล่ห์เหลี่ยมจัด ซึ่งนับว่ากลายเป็นฉายาของนักคิด นักเขียน และที่ปรึกษาทางการเมืองผู้นี้ไปเสียแล้ว. ความจริงแล้วใช่ว่าความเลวร้ายทางการเมืองจะไม่เคยปรากฏก่อนที่ Machiavelli จะเขียนหนังสือเล่มนี้ และใช่ว่าหนังสือเล่มนี้จะสอนให้นักการเมืองทำสิ่งที่เลวเพื่อตนเองก็หาไม่. หนังสือของ Machiavelli เปรียบได้ก็คล้ายกับตำราพิชัยสงครามของซุนวู หรือคัมภีร์อรฺถศาสฺตฺร ของพราหมณ์เกาฏิลฺย ที่แนะนำการปกครองในทางปฏิบัติจริงๆ -- ไม่ใช่การปกครองในทฤษฏีการเมืองเพื่อแสวงหารูปแบบสังคมในอุดมคติ อย่างที่ปราชญ์ตะวันตกหลายๆคนพยายามคิดค้นกันมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณจนถึงปัจจุบัน. สิ่งที่ Machiavelli แนะนำให้กับ prince (ยุโรปยุคกลางขณะนั้นประกอบด้วยรัฐเล็กๆที่แก่งแย่งกันมีอำนาจ โดยผู้ปกครองรัฐสมัยนั้นจะเรียกว่า prince) มีเป้าหมายเพื่อความสงบของสังคมโดยรวม เพียงแต่ว่าวิธีที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นมันออกจะขาดศีลธรรมอยู่ไม่น้อย; เพราะสำหรับ Machiavelli แล้ว "the end justifies the means" และ "utility is above morality" ดังนั้น prince อาจทำอะไรก็ได้ เพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย. แม้ว่าในหนังสือเล่มนี้ Machiavelli ไม่ได้แนะให้ prince ไปรุกรานใคร แต่แน่นอนว่า Machiavelli แนะนำให้ prince สามารถปฏิบัติการต่อรัฐที่มีแนวโน้มเป็นปฏิปักษ์ได้ก่อน หากการแสดงออกของรัฐนั้นเป็นการข่มขู่หรือมีแนวโน้มที่จะคุกคามตน ซึ่งนี่เองที่เป็นที่มาของเงื่อนไขหนึ่งของ just war ซึ่งกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งในกฏบัตรของสหประชาชาติ. ส่วนในเรื่องความสงบของสังคมนั้น Machiavelli ยังแนะให้ prince ปกครองโดยใช้ทั้งความรักและความกลัวพร้อมๆกัน (oxymoron จริงๆ แต่ก็เป็นจริงแล้วอย่างที่เห็นใกล้ตัวเรา) หรือหากต้องเลือกระหว่างความรักและความกลัวแล้ว prince ต้องไม่ลังเลใจที่จะใช้ความกลัว. อ่านหรือฟังดูคุ้นๆไหมครับ. ในโลกการเมือง โดยเฉพาะการเมืองแบบเผด็จการ The Prince คือคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทีเดียว เพราะใน ๒๖ บททั้งหมดในเล่มนี้ หากใครได้อ่านและเข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วนำไปปฏิบัติแล้ว -- ไม่ว่าในชีวิตส่วนตัว ในที่ทำงาน ในระดับชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศหรือระดับโลก -- โอกาสที่จะประสบความสำเร็จเพื่อรักษาอำนาจของตน หรือความสงบของสังคม (สงบแบบที่เผด็จการคิด) ก็มีสูงเช่นกัน. ด้วยเหตุนี้นักการเมืองทั้งดีและเลวจึงต้องอ่านหนังสือเล่มนี้กันทั้งนั้น -- ใครไม่ได้อ่านก็คงจะเล่นการเมืองแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไปวันๆ -- และอ่านกันมาอย่างต่อเนื่องตราบตั้งแต่หนังสือเล่มนี้พิมพ์ในปี 1513 มาจนถึงปัจจุบัน. เช่นนี้แล้วเราประชาชนผู้ถูกปกครองอย่างเราๆจะไม่อ่านเพื่อให้รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง หรือนักปกครอง หรือผู้มีอำนาจที่ไม่ว่าจะอยู่หน้าฉากหรือหลังฉาก ได้อย่างไรกันเล่า. . .

ผมคงสาธยายเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ได้ไม่จบสิ้น เพราะมันเยอะและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างพลิกแพลง ดังนั้นควรอ่านกันเองครับ. ผมอ่านฉบับแปลใหม่ปี 2005 ของ Peter Bondanella ที่ Oxford พิมพ์แล้ว นับว่าดีทีเดียว แต่ฉบับแปลของ W. K. Marriott เล่มนี้ก็ถือว่าคลาสิกครับ เพราะยังพิมพ์ขายกันมาจนทุกวันนี้.

ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0a2Z0emhvMkJNT00/edit?usp=sharing


ไม่มีความคิดเห็น


หฤทัยแห่งอันธการ แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

หฤทัยแห่งอันธการ
Heart of Darkness โดย Joseph Conrad
แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

สำนักพิมพ์สมมติ
>> วางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
>> อ่านบางส่วนของ คำนำของผู้แปล
ขับเคลื่อนโดย Blogger.