Siddhartha (1922) by Hermann Hesse [PDF]
Siddhartha เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่มชื่อ สิทฺธรฺถ ผู้แสวงหาหนทางสู่การตรัสรู้ในช่วงสมัยที่พระพุทธเจ้า [ในเรื่องเรียกพระพุทธองค์ว่า Gotama หรือ โคตม] กำลังทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนา. ชื่อของ สิทฺธรฺถ เป็นชื่อเดียวกันกับของพระพุทธองค์ก่อนทรงออกผนวช ดังนั้นอาจทำให้ชาวพุทธที่ไม่เคยอ่านอาจสับสนไปบ้าง. แต่ที่ Hesse ตั้งชื่อเช่นนี้คงเพราะต้องการความหมายของชื่อเรื่องให้ตรงกับเนื้อหา เพราะ สิทฺธรฺถ มาจากคำสันสกฤตว่า สิทธ [แปลว่าสมบูรณ์หรือสำเร็จ] สนธิกับคำว่า อรฺถ [แปลว่าเป้าหมายหรือความหมาย] ดังนั้น สิทฺธรฺถ จึงหมายถึงผู้สำเร็จแล้วในเป้าหมาย หรือผู้สำเร็จแล้วในการค้นหาความหมายนั่นเอง. ผมคงจะไม่เล่าเรื่องราวในวรรณกรรมเล่มนี้ให้เสียอรรถรส แต่อยากกล่าวเพียงเล็กน้อยถึงพื้นฐานความคิดของ Hesse ที่ได้สร้างสรรค์วรรณกรรมชิ้นเองเรื่องนี้ให้กับโลก. . .
ความจริงแล้ว Hesse ศึกษาพุทธศาสนามาตั้งแต่เยาว์วัยก่อนที่จะขยายความสนใจในปรัชญาตะวันออกอื่นๆ เช่น ปรัชญาของเหลาจื้อ หรือขงจื้อ. เขาเคยตั้งใจมากที่จะเดินทางไปอินเดียในปลายปี 1911 แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะเรือที่นำเขาไปกลับมุ่งหน้าไปปีนัง สิงค์โปร์ สุมาตรา บอร์เนียว พม่า และศรีลังกา โดยไม่แวะอินเดียเลยตลอดสามเดือนของการเดินทาง. ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า Hesse ไม่เคยสัมผัสบรรยากาศของความเป็นอินเดียอย่างแท้จริงเลย. ฉากต่างๆที่เขาบรรยายในเรื่องล้วนเป็นจินตนาการของเขาเองทั้งหมด. แต่กระนั้นก็ตาม การนำพาผู้อ่านให้ท่องจิตวิญญาณไปพร้อมๆกับประสบการณ์ชีวิตของสิทฺธรฺถ ซึ่งดำเนิรไปตามหลักอาศรมของฮินดูนับจากพรหมจริณ สู่คฤหสฺถ สู่วนาปรสฺถ และสิ้นสุดที่ สํนยาส (สู่นิพาน) นับเป็นความสามารถของ Hesse โดยแท้ -- ก็สมควรแล้วที่เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1946 ต่อมา.จะเห็นได้ว่า Hesse นำวิถีและหลักธรรมของฮินดูและพุทธมาผสมผสานกัน ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะในสมัยของพระพุทธองค์นั้น พระองค์ทรงต้องเผยแพร่คำสอนท่ามกลางวิถีฮินดูของภารตชนขณะนั้นเช่นกัน.
แก่นของเรื่องที่ Hesse ต้องการบอกก็คือ ความสมบูรณ์ของมนุษย์ในการค้นหนหนทางสู่นิพานด้วยตนเองนั้น เกิดจากการเพ่งพิจารณาประสบการณ์ทั้งหมดของชีวิตที่ผ่านมาของตนนั้นเอง. ประสบการณ์เพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตมิอาจนำพาให้เข้าใจโลกภายนอกหรือโลกภายในของตนเองได้โดยสมบูรณ์. ฉะนั้นวรรณกรรมเรื่องนี้ไม่ได้สอนหลักธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่เป็นการผสมผสานความคิดและปรัชญาของพุทธ ฮินดู เทววิทยา (theosophy) กับปรัชญาสมัยใหม่อย่างของ Schopenhauer -- ซึ่งก็รับจากอินเดียมาอีกทีเช่นกัน -- เข้าไว้ด้วยกัน. ดังนั้นผมจึงแนะนำให้อ่านเป็นอย่างยิ่ง สำหรับใครที่ไม่เคยอ่าน และขอให้อ่านอย่างคนใฝ่รู้ครับ อย่าอ่านโดยยึดติดกับความเป็นพุทธศาสนิกชน.
ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0ZjdxaWcwZVY2ZGc/edit?usp=sharing
Post a Comment