Foundations of Indian Culture (1953) & The Renaissance in India (1918) by Sri Aurobindo Ghose [PDF]
ท่านศรีอรฺพิณโฑโฆษอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักกันนักในบ้านเรา แต่ท่านเป็นผู้หนึ่งที่นักคิดนักเขียนชาวตะวันตกจำนวนมาก อย่างเช่น Mircea Eliade ผู้เขียน The Myth of the Eternal Return (1954) ที่ผมแนะนำไปแล้ว ต่างนับถือท่านในความรู้แจ้งเกี่ยวกับจิตวิญญาณของอินเดีย. ทุกครั้งทีผมได้ยินชื่อ สาวิตรี ของผู้หญิงคนใด จะทำให้ผมนึกถึงท่านทุกครั้ง เพราะชื่อนี้นอกจากจะแปลว่าผู้ให้กำเนิดแสงแล้ว ก็ยังเป็นชื่อของตัวละครเอกนางหนึ่งในคัมภีร์มหาภารต ตอนสาวิตฺรี-สตฺยวาน ที่เอาชนะความตายด้วยความรัก และท่านนำตัวละครนี้มาเขียนเป็นบทกวี ที่ท่านตีความหมายในเชิงปรัชญาที่ลึกซึ่งยิ่งกว่า ทำให้บทกวีเล่มนี้เป็นงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและยาวที่สุดของท่าน -- นับแล้วกว่า ๒๔,๐๐๐ บรรทัด! ผมกำลังคิดอยู่ว่าจะเอามาให้อ่านไหม เพราะอ่านยากพอควรจนผมก็ยังไม่มีปัญญาอ่านให้จบ. แต่หนังสือของท่านที่ผมนำมาให้ทุกคนอ่านสองเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปะ-วัฒนธรรมของอินเดีย ที่ท่านให้มุมมองอย่างปราชญ์ผู้รู้แจ้งในปรัชญาอินเดียอย่างลึกซึ่ง ซึ่งไม่มีนักวิชาการตะวันตกคนใดจะให้มุมมองเช่นนี้มาก่อน.
สิ่งที่ท่านศรีอรฺพิณโฑโฆษบรรยายในหนังสือเล่มนี้กว้างขวางแต่ลึกซึ้งถึงปรัชญาเวทาตาของอินเดียซึ่งท่านยังกล่าวว่าปรัชญาตะวันตกนับจากกรีกโบราณมา จนถึงสำนักของปราชญ์เยอรมันทั้งหลายต่างไม่มีใครที่ไม่มีเชื้อมาจากคัมภีร์ อุปนิษทฺ. ในมุมมองที่มีต่อศิลปะ-สถาปัตยกรรมของอินเดียนั้น ท่านได้กล่าวตอบโต้นักเขียนชาวตะวันตก ที่มองศิลปะ-สถาปัตยกรรมของอินเดียว่าไม่มีความเหมือนจริง โดยท่านกล่าวว่า สุนทรียภาพของตะวันตกเกิดจากมุมมองที่มีต่อธรรมชาติภายนอก แต่สำหรับอินเดียแล้วศิลปะเป็นการเปิดเผยจิตวิญญาณอันเอนกอนันต์ที่อยู่ภายในให้ปรากฏในเชิงสัญลักษณ์. Rationalism ของตะวันตกจึงต่างกับ spiritualism ของอินเดียอย่างเห็นได้ชัด. ดังนั้นผมจึงแนะนำให้อ่านครับ โดยเฉพาะในบทว่าด้วยศิลปะ-สถาปัตยกรรม เพราะสิ่งที่ท่านเขียนไม่มีเรื่องเทววิทยาใดๆเลย มีแต่มุมมองในเชิงปรัชญาล้วนๆ.
ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0UFJ4YTJVbHNBcG8/view?usp=sharing
Post a Comment