The Misunderstanding (1944) by Albert Camus, trans. by Stuart Gilbert in Caligula & 3 Other Plays (1958) [pp.75-134 | PDF]
ผมเป็นคนหนึ่งที่ดูภาพยนตร์ไทยน้อยมาก. สาเหตุหนึ่งที่สำคัญก็คือ ผมไม่รู้สึกว่าหนังไทยรุ่นเก่าที่ผมเคยดูเหล่านั่นคือการแสดง. ดาราที่ปรากฏในหนังเหล่านั้นพูดตามคนบอกบท โดยไม่มีการท่องบทหรือทำความเข้าใจบทมาก่อน--อาจเนื่องจากดาราเหล่านั้นเดินสายกันวันละกี่เรื่องก็ไม่ทราบได้--ดังนั้นหากมี dialogue ที่ต้องตอบโต้กัน การแสดงจะอืดอาดยืดยาดมาก--กว่าจะพูดออกมาได้สักคำ ดูแล้วให้รำคาญใจ--รวมทั้งการแสดงสีหน้าท่าทางที่ไม่เป็นธรรมชาติอย่างที่จะเรียกได้ว่าเป็น acting ได้เลย เพราะนั่นเป็นการทำท่าทำทางตามที่ผู้กำกับสั่งให้ทำเท่านั้น. นี่จึงทำให้ผมเลิกดูหนังไทยมาจนถึงทุกวันนี้.+ แต่กระนั้น ยังมีภาพยนตร์ไทยอยู่สองเรื่องที่มีลักษณะพิเศษ จนทำให้ผมพอจะจดจำได้ หนึ่งในนั้นก็คือ "เมืองในหมอก"* ซึ่งดัดแปลงมาจากบทละครเรื่อง Le Melentendu ของ Albert Camus ที่ผมนำมาแนะนำให้อ่านกันวันนี้. . .
แม้ตัวละครในโศกนาฏกรรมเรื่อง The Misunderstanding นี้มีอยู่เพียงห้าคน--หนึ่งในนั้นมีบทพูดอยู่เพียงหนึ่งประโยคกับหนึ่งคำ ซึ่งคำสุดท้ายที่เขาพูดในตอนจบเป็นการเน้นย้ำ theme ของเรื่อง และเหมือนกับเป็น catharsis ของอารมณ์ทั้งหมดในเรื่อง--บทพูดก็มีความซับซ้อนมาก รวมทั้งออกจะไม่เป็นธรรมชาติ (non-colloquialism) แต่เนื้อหาโดยรวมกลับมีความลึกซึ้งและคลุมเครืออย่างน่าสนใจ. ดังนั้นการจะทำความเข้าในบทละครเรื่องนี้ รวมทั้งวรรณกรรมเรื่องอื่นๆของ Camus ให้ลึกซึ้ง ผู้อ่านควรที่จะเข้าใจในหลักปรัชญาของเขาก่อนเป็นเบื้องต้น--นั่นเพราะงานวรรณกรรมเป็น intentional mimesis ที่ผู้ประพันธ์เขียนขึ้นตามแนวคิดและวัตุประสงค์ที่เขาต้องการสื่อความหมายให้ผู้อ่านได้เข้าถึง--โดยเฉพาะความคิดของเขาที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง The Myth of Sisyphus (1942) ซึ่งเขาเขียนก่อนบทละครเรื่องนี้. Camus สะท้อนในบทละครเรื่องนี้ถึงความไร้แก่นสารของอัตถิภาวะ (absurdity of existence) ทั้งที่ปรากฏในตัวละครที่เป็นฆาตกร (ผู้กระทำสิ่งอันเลวทราม) อันเกิดจากความไม่เห็นต่างหรือความไม่เชื่อในความมีหรือไม่มีคุณธรรม (amorality) และในตัวละครที่เป็นผู้ถูกกระทำ (ผู้กระทำสิ่งอันดีงาม) อันเกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด (hamartia) ความไร้แก่นสารใน integrity ของตน ซึ่งไม่อาจที่จะกำหนดสิ่งที่ตนเองต้องการในโลกที่ไร้ตรรกกะ ไร้ระเบียบ และไร้ความเป็นธรรมได้. ซึ่งทั้งหมดนี้คือแนวคิดพื้นฐานในเรื่อง absurdism ของ Camus อันว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างความปรารถนาในการหาแสวงหาความหมายของมนุษย์กับโลกที่มนุษย์ไม่อาจความคุมได้. บทละครเรื่องนี้แม้จะสื่อให้เห็นเพียง absurdity ของมนุษย์เท่านั้น โดยไม่มีการแฝงนัยถึงวิธีการปลดเปลื้องตนเองจากภาวะเช่นนี้ แต่กระนั้น ใน The Myth of Sisyphus นั้น Camus ได้เคยเขียนถึงแนวคิดที่แตกต่างจาก nihilism ของเขาไว้ว่า มนุษย์สามารถปลดเปลื้องตนเองได้โดยการยอมรับความไร้แก่นสารอย่างเข้าใจ (recognition) และครองชีวิตตามศักยภาพอย่างมีเป้าหมายด้วยตนเองและเพื่อตนเอง--มิฉะนั้นมนุษย์อาจต้องยอมจำนน โดยการกระทำอัตวินิบาตกรรม (physical suicide) หรือไม่ก็งมอยู่กับอำนาจที่เหนือธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้าหรืออะไรที่ตนเทิดทูน (leap of faith หรือ philosophical suicide).
ในที่นี้ ผมตัดบทละครเรื่องนี้มาจากหนังสือชื่อ Caligula & 3 Other Plays (1958) ซึ่งนอกเหนือจาก The Misunderstanding แล้ว ยังประกอบด้วยบทละครอีกสามเรื่องคือ Caligula, The Just Assassins (Les Justes) และ State of Siege (L' Etat de Siege) ซึ่งล้วนเป็นบทละครจากแนวคิด absurdism อันควรค่าในการอ่านทั้งสิ้น. ผมจำได้ว่าเคยเห็นฉบับแปลจากภาษาฝรั่งเศสให้เป็นภาษาไทย ของบทละครเรื่อง The Misunderstanding และ The Just Assassins แต่จำชื่อภาษาไทยไม่ได้. ใครที่สนใจลองไปหาอ่านกันเองนะครับ.
ดาวน์โหลด PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0bG1ocUtIc0E2Qms/view?usp=sharing
+ ความจริงแล้วพัฒนาการของหนังไทย เริ่มต้นพร้อมๆกับของญี่ปุ่น แต่กลับเป็นว่า ภาพยนตร์ญี่ปุ่นมีพัฒนาการที่เร็วและโดดเด่นมาก ทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงศิลปะ นับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก; แต่ไฉนหนังไทยกลับมีพัฒนาการที่ย่ำอยู่กับที่--ปัจจุบันผมไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่ได้ดูหนังไทยมานานมากแล้ว; เรื่องสุดท้ายที่ผมถูกชวนให้ไปดู--รวมทั้งเป็นช่วงเดียวกันที่ผมเลิกดูหนังทั้งไทยและเทศในโรง--เป็นหนัง romance-comedy ชื่อเรื่องเต็มๆจำไม่ได้ จำได้แต่มีคำว่า "...ฉันคือเธอ" เกี่ยวกับการสลับร่างชาย-หญิงอะไรทำนองนี้ ที่ลอกมาจากหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งโดยไม่ให้เครดิตเลยแม้แต่น้อย. อีกเรื่องหลังจากนั้น ซึ่งห่างกันนานมาก ผมถูกลูกบังคับให้ไปดู เพราะจ่ายค่าตั๋วให้รร.ไปแล้ว คือ สุริโยทัย ที่ผมเสพแทบไม่ลงเพราะสำลักความคลั่งชาติ.
* เปิดโรงประมาณ ๒๕๒๑ หากจำไม่ผิด เพราะฉายหลังจากเหตุการณ์ ๖ ตค.๒๕๑๙ ได้สักสองปี. อีกเรื่องหนึ่งคือ "ทองพูนโคกโพ ราษฎรเต็มขั้น" เพราะผู้กำกับและเขียนบทดูจะเห็นอกเห็นใจชนชั้นแรงงานผู้ถูกกดขี่อยู่ไม่น้อยในขณะนั้น. สิ่งที่ทำให้ผมจดจำได้ดีก็คือ ในฉากสุดท้ายที่กล้อง fade-dolly-pan มาเจอป้ายทะเบียนรถแทกซี่ของทองพูนในกองเศษเหล็ก ลอกเอามาจากฉากสุดท้ายใน Citizen Kane ของ Orson Welles ทั้งดุ้น.
Post a Comment