The Thirteen Principal Upanishads (1921) by Robert Ernest Hume [PDF]
ฮินดูเป็นศาสนาที่ไม่มีศาสดา ซึ่งนับเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ฮินดูต่างจากศาสนาอื่นๆ. แล้วหลักปรัชญาของศาสนาฮินดูมาจากไหนกันเล่า? คำตอบคือมาจากคัมภีร์อุปนิษทฺเหล่านี้.* ที่ผมใช้คำว่า "เหล่านี้" เป็นเพราะเวลาที่เรากล่าวถึงคัมภีร์อุปนิษทฺ เราไม่ได้กำลังอ้างอิงถึงคำภีร์เล่มใดเล่มหนึ่ง--สังเกตคำในภาษาอังกฤษที่กล่าวถึงทั่วไปจะมีรูปเป็นพหูพจน์เสมอ--แต่หมายถึงชุดคัมภีร์ที่จัดว่าเป็นแก่นหรือสารัตถะของหลักปรัชญาฮินดู ซึ่งมีมากมายกว่าสองร้อยเล่ม--เล่มที่เก่ากว่าปี 1656 มีอยู่ ๑๐๘ เล่ม. แต่เล่มที่ถือว่าเป็นหลักจริงๆและเป็นต้นกำเนิดที่มีมาก่อนสมัยพระพุทธองค์นั้น หลายๆคัมภีร์ รวมทั้งนักวิชาการทางภาษาศาสตร์ ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ามีอยู่ทั้งหมดสิบเล่ม (มุขฺย) นั่นคือ: อีษา, เกน, กฐ, ปฺรษณ, มุณฑก, มาณฺฑก, ไตตฺตริย, ไอตเรย, ฉานฺโทคฺย, และ พฤหทารณฺยก; ส่วนอีกสามเล่มคือ เกาษีตากิ, ไมตริ, และ ศเวตาศฺวตร แม้จะไม่จัดอยู่ในมุขฺย แต่ก็มีอายุเก่าแก่มากพอกัน และมีเนื้อหาที่น่าสนใจมาก Hume จึงจัดเข้ามาอยู่ในเล่มนี้ด้วย.
แล้วคัมภีร์อุปนิษทฺเหล่านี้สำคัญไฉนฤๅ จึงควรค่าที่จะศึกษา?. . .
ก็เพราะมันเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคน. สิ่งที่บรรยายในคัมภีร์เหล่านี้เป็นเหมือนการสนทนาของจิตวิญญาณที่อยู่ภายในมนุษย์ทุกคน ที่แสวงหาสัจจะของธรรมชาติและความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง เพราะคัมภีร์นี้เป็นการประมวลความรู้ทางปรัชญาทั้งหมดของอินเดียที่น่าทึ่งเอามากๆ เพราะไม่เพียงแต่มีผลต่อการมองตนเองสู่ภายในของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดมุมมองของสิ่งภายนอก ไม่เพียงแต่โลก แต่รวมทั้งสสารและจักรวาลอีกด้วย ดังที่หลักอภิปรัชญาของอุปนิษทฺได้เป็นต้นกำเนิดของ quantum physics หากตีความหมายในเชิง analogy ของภาวะสสารและพลังงานของอะตอม (อาตฺมนฺ) และจักรวาล (พฺรหฺมนฺ) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ควอนตัมอย่างเช่น Erwin Schrodinger หรือ Paul Dirac ต่างก็ยอมรับว่าเขาพัฒนาทฤษฎี quantum ของตนเองมาจากคัมภีร์อุปนิษทฺเหล่านี้.
และเราคงต้องยอมรับว่าหลักปรัชญาจำนวนมากในคัมภีร์อุปนิษทฺเหล่านี้ เป็นพื้นฐานที่มาของหลักธรรมในพุทธศาสนา--เพราะพระพุทธองค์ทรงศึกษาคัมภีร์เหล่านี้มาก่อนทั้งสิ้น และก็ทรงยอมรับและเลือกหลักปรัชญาของอุนิษทฺที่ทรงเห็นว่าถูกต้องและเข้าได้กับหลักธรรมของพระองค์--เพียงแต่พระองค์ทรงเลี่ยงที่จะกล่าวถึงอภิปรัชญา (metaphysics), ภววิทยา (ontology), ญาณวิทยา (epistemology), หรือแม้แต่จริยศาสตร์ (ethics) โดยเพ่งพิจารณาแต่กระบวนการทางจิตที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วยหลัก causes and effects เท่านั้น--การวิเคราะห์ทางปรัชญาดังที่กล่าวมาข้างต้นเหล่านี้ในพุทธศาสนา เกิดขึ้นภายหลังจากสมัยของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น. ด้วยเหตุนี้คัมภีร์หลักทั้ง ๑๓ เล่มของอุปนิษทฺนี้ จึงมีความสำคัญต่อโลกเป็นอย่างมาก. เช่นนี้แล้วเราจะไม่ศึกษาได้ฤๅ.
ความจริงมีผู้แปลคัมภีร์อุปนิษทฺอยู่จำนวนมาก แต่ที่ผมเลือกเล่มนี้มาให้อ่านกัน ก็เพราะเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า ฉบับแปลภาษาอังกฤษของ Hume แปลได้ใกล้เคียงกับต้นฉบับภาษาสันสกฤตมาก อีกทั้ง Hume ก็ยึดถือตามอรรถธิบายของท่านศงฺกราจารฺย เป็นหลักด้วย ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงถือว่าคลาสิกที่สุดแล้ว. ยังมีฉบับที่แปลโดยปราชญ์ท่านอื่นที่น่าสนใจมากๆก็คือ ของท่านรธกฤษฺนนฺ และของท่านศรีอรฺพิณโฑ แล้ววันหลังผมจะเอามาแนะนำให้อ่านกันครับ--ที่ผมใช้คำว่าน่าสนใจมากๆเป็นเพราะ การตีความสูตรและโศฺลกในคัมภีร์เหล่านี้ มันขึ้นอยู่กับระดับพื้นฐานและมุมมองของผู้อ่านว่ามีความเข้าใจในหลักธรรมของฮินดูและธรรมชาติของชีวิตมากน้อยเท่าใด ดังนั้นการอ่านคัมภีร์เหล่านี้ จึงต้องอ่านอรรถธิบายของปราชญ์ผู้ศึกษามาก่อนนี้ให้หลากหลาย เพื่อให้เห็นภาพในหลายๆมิติของสารัตถะในคัมภีร์ครับ.
ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0ZnAyeS1HZmVTUWc/view?usp=sharing
หมายเหตุ:
* คัมภีร์อุปนิษทฺ เป็นส่วนท้ายสุดของ ชุดคัมภีร์พระเวท (vedic corpus) โดยเกือบทั้งหมดเป็นภาคที่ผนวกให้จัดอยู่ในคัมภีร์พฺราหฺมณ และคัมภีร์อารณฺยก ที่บรรยายเนื้อหาทางปรัชญา (ศรุติ) ซึ่งพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์จะสอนให้แก่ศิษย์เป็นบทเรียนสุดท้าย--ด้วยเหตุนี้จึงเรียกคัมภีร์อุปนิษทฺอีกชื่อหนึ่งว่า เวทานต (แปลว่า สุดท้ายของพระเวท)--หากรวมเอาคัมภีร์ภควตฺคีตาและคัมภีร์พฺรหฺมสูตฺรเอาไว้ด้วยแล้ว จะเรียกว่า ปฺรสถานตฺรยี ซึ่งถือเป็นชุดคัมภีร์หลักของสำนักเวทานต. ส่วนอื่นของคัมภีร์พระเวทคือ สํหิตา--ซึ่งประกอบด้วย ฤคเวท, สามเวท, ยชุรเวท และ อถรฺวเวท--นั้น มีแต่มํตราที่เกี่ยวกับการประกอบพิธีต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับปรัชญาแต่อย่างใด แต่กลับมีอิทธิพลต่อประเพณี ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติของอินเดียมากที่สุด เมื่อกอปรกับคัมภีร์ปุราณ. นั่นคือใครที่ยังยึดมั่นอยู่แต่สํหิตา--รวมทั้งยาตริกประเภทที่เจริญภาวนาโดยการยกแขนข้างเดียวหรือกำมืออยู่ชั่วนาตาปี หรือด้วยอากัปอาการต่างๆนาๆอย่างที่เราเห็นอยู่เกลื่อนเมืองในอินเดีย--จึงเป็นเพียงผู้ที่ยังอยู่ในโลกแห่งความเขลาเท่านั้น--แม้จะเชื่อว่าอาจบรรลุได้ด้วยภักดีและศรัทธาต่อพระปรเมศวรที่ตนนับถือ (ภกฺติโยค) ก็ตามที.
Post a Comment