Heart of Darkness (1899) by Joseph Conrad [PDF]


ผมรู้จักวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Apocalypse Now (1979) ของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) มากกว่าสิบครั้งในโรง—และสมัยนั้นยังเอาเทปคาสเซ็ตไปอัดเสียงมาศึกษาสคริปที่บ้านอีกต่างหาก—ทำให้เกิดความฉงนและสนเท่ห์ ที่ชักจูงให้ขวนขวายหาต้นตอของภาพยนตร์เรื่องมาอ่าน. ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจาก Heart of Darkness แต่เปลี่ยนองค์ประกอบของเรื่องเกือบทั้งหมด โดยคงแนวคิดของเรื่องอันเกี่ยวกับการเดินทางภายใต้ภาวะการณ์ที่นำไปสู่ความมืดมิดในจิตวิญญาณของมนุษย์ ที่สำแดงออกมาเป็นความโหดเหี้ยมที่ยากจะคิดได้ว่า คนๆหนึ่งจะสามารถทำสิ่งเลวร้ายเช่นนั้นออกมาได้ เพียงแต่ว่าจอห์น มิลเลียส (John Milius: ผู้เขียนบท) และคอปโปลา ตีความถึงแรงจูงใจในมุมมองที่ใหม่ ในสภาพแวดล้อมที่ใหม่ ได้อย่างน่าสนใจและแตกต่างไปจากเดิมที่คอนราดประพันธ์ไว้เท่านั้น. ผมยังจดจำความรู้สึกในการอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นครั้งแรกได้ว่า เต็มไปด้วยความสับสน และยากจะเข้าใจได้ว่า ทำไมคอนราดถึงได้รับการยอมรับจากนักวิชาการทั่วโลกว่า เป็นนักเขียนวรรณกรรมสมัยใหม่รุ่นบุกเบิก ผู้มีอิทธิพลต่อนักเขียนวรรณกรรมรุ่นต่อๆมา ทั้ง T. S. Eliot (ผู้ได้รางวัลโนเบลปี 1948), Ernest Hemingway (ผู้ได้รางวัลโนเบลปี 1954), William Golding (ผู้ได้รางวัลโนเบลปี 1980), หรือ Gabriel García Márquez (ผู้ได้รางวัลโนเบลปี 1982) รวมทั้ง Albert Camus หรือ George Orwell ที่คนไทยรู้จักกันดี เป็นต้น; แต่เมื่อได้อ่านซ้ำ. . .

กอปรกับการค้นคว้าศึกษาบริบทในวรรณกรรมเรื่องนี้อย่างจริงจัง ความเข้าใจในตัวบทก็เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นลำดับ และยิ่งทำให้ทึ่งและยอมรับในความสามารถในการใช้ภาษาของคอนราด—โดยเฉพาะเมื่อทราบว่าเขาเลือกที่จะประพันธ์นวนิยายเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่ภาษาโปลิชและฝรั่งเศสเป็นภาษาที่เขาน่าจะคุ้นเคยมากกว่า อีกทั้งเขาเพิ่งจะเริ่มเรียนรู้การเขียนภาษาอังกฤษมาได้ไม่นานนัก.

คอนราดเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ในเชิงประวัติศาสตร์นิยม (historicism) และประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography) ไว้ว่า:

“นวนิยายก็คือประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ หรือไม่ก็สูญ. แต่มันยังเป็นมากกว่านั้น; มันตั้งอยู่บนฐานที่มั่นคงกว่า อันขึ้นอยู่กับความเป็นจริงของรูปแบบและสังเกตการณ์ของปรากฏการณ์ทางสังคม ในขณะที่ประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับเอกสารจำนวนมาก รวมถึงการอ่าน [เอกสารเหล่านั้น] ทั้งที่ตีพิมพ์ [เป็นรูปเล่ม] และที่เขียนด้วยลายมือ—กล่าวคือหลักฐานทุติยภูมินั่นเอง. ฉะนั้นนวนิยายจึงเป็นสัจจะที่ใกล้เคียงมากกว่า. . .นักประวัติศาสตร์ก็อาจถือว่าเป็นศิลปินด้วยเช่นกัน; แต่นักเขียนนวนิยายจัดเป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ ผู้พิทักษ์ ผู้บันทึก ผู้ให้อรรถาธิบายประสบการณ์ของมนุษย์”
(Conrad 1927, II.21).

วรรณกรรมเรื่องนี้ของคอนราดก็เป็นเหมือนดังที่คอนราดเขียนไว้เช่นนั้น. การพรรณนาของ มาร์โลว์ ตัวละครเอกของเรื่อง ล้วนเต็มไปด้วยวาทศิลป์ในเชิงประสบการณ์ (experiential rhetoric) ที่สอดแทรกความคิด ความรู้สึกของเขาให้ผู้อ่านรับรู้อดีตอันขมขื่น—อดีตที่สร้างรอยแผลในจิตใจของเขา อันคือรอยแผลของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงที่นั่น. มันไม่เพียงให้มุมมองหนึ่ง ชีวประวัติของคนๆหนึ่ง ที่ผ่านประสบการณ์มาแบบหนึ่ง อันทำให้เราเข้าใจภาวะความเป็นมนุษย์บางอย่าง ที่เราต่างล้วนมีเหมือนกันเท่านั้น แต่มันยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หากใครได้ค้นคว้าเพิ่มเติมแล้ว จะเข้าถึงเหตุการณ์เหล่านั้น อารมณ์เหล่านั้นได้อย่างลึกซึ้งและลุ่มลึกมากขึ้น. เหล่านี้ บางครั้งอาจทำให้ผู้อ่านหน้าใหม่สงสัยได้ว่า นวนิยายสั้นเรื่องนี้น่าจะจัดอยู่ในประเภท (genre) วรรณกรรมแบบ อัตชีวประวัติ (autobiography) มากกว่าจะเป็นวรรณศิลป์ (literary art) อย่างแท้จริง. ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม งานของคอนราดนี่ ก็สร้างแรงบันดาลใจในการแสวงหาแนวทางใหม่ของประวัติศาสตร์นิพนธ์ ที่เอารูปแบบของวรรณกรรมมาใช้ในการเขียนประวัติศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มีนักประวัติศาสตร์จำนวนมาก ก็นำแนวคิดเช่นนี้มาประยุกต์ใช้อยู่จำนวนมาก.

นอกจากนั้น คอนราดเคยกล่าวไว้เช่นกันว่า:

“[งานวรรณกรรมที่] ยิ่งใกล้ความเป็นศิลปะมากเท่าใด ตัวละคร [ในเรื่อง] ก็ยิ่งต้องเป็นสัญลักษณ์มากขึ้นเท่านั้น”
(Conrad 1927, II.205).

วรรณกรรมเรื่องนี้ก็เป็นเช่นนั้น. ตัวละครในเรื่อง คำบรรยายที่ตัวละครกล่าว และองค์ประกอบของเรื่องทั้งหมด ล้วนถูกสร้างสรรค์ในเชิงอรรถสัญลักษณ์ (semiotics) อย่างตั้งใจ เพื่อให้มีนยะทางสัญลักษณ์บางอย่าง ที่ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงสัญลักษณ์เหล่านั้น อันจะนำพาความคิดให้เข้าถึงแก่นของเรื่อง (theme) หรือความมุ่งหมายของผู้ประพันธ์ได้ในที่สุด. ดังนั้นการวิเคราะห์วรรณกรรมอย่างเป็นระบบ จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจนวนิยายสั้นเรื่องนี้ในความเป็นวรรณกรรมอย่างลึกซึ้ง ในอีกมิติหนึ่งที่นอกเหนือไปจากประวัติศาสตร์หรือชีวประวัติของผู้ประพันธ์.

[แต่]. . .วรรณกรรมเรื่องนี้จัดได้ว่าอ่านยาก ซึ่งอาจเป็นเพราะ:

หนึ่ง: คอนราดเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ด้วยลีลาแบบร้อยแก้วแนวร้อยกรอง (poetic prose style) ที่ใช้คำน้อย เต็มไปด้วยช่องว่าง (gaps หรือ hiatus) ให้ผู้อ่านตีความหมายกันเอาเอง และมีรูปแบบการเขียนเหมือนจะหลุดออกจากกรอบของมาตรฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษสมัยใหม่—อันอาจเนื่องจากระบบความคิดของคอนราดเอง ที่แม้เขาจะเขียนด้วยภาษาอังกฤษ แต่กลับมีวากยสัมพันธ์ (syntax) ที่คอนราดยังยึดติดอยู่กับหลักการใช้ภาษาโปลิชและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาเกิดและภาษาที่เขาคุ้นเคยมาก่อน อันทำให้งานเขียนเรื่องนี้ของเขาทั้งโดดเด่น—ในการลำดับความสำคัญของคำและสำนวนโวหาร (phraseology)—และด้อยค่าลง—ในการทำให้ผู้อ่านทำความเข้าใจยากอย่างไม่จำเป็นในบางประโยค. ยิ่งกว่านั้น คอนราดมักใช้คำสรรพนามซ้อนกันหลายชั้น และใช้คำสันธานอย่างคำว่า and มากเกินจนน่าเวียนหัว; อีกทั้งเขามักจะเลือกใช้คำคุณศัพท์ที่มากด้วยศัพทานุกรม (lexicon) และเป็นคำประเภท hypernym ที่ทำให้ความหมายของคำที่เขาเลือกใช้เป็นนามธรรมมากขึ้น เพื่อก่อกระแสของจินตนาการให้ทวีคูณมากขึ้น อันเป็นการเพิ่มความหลากหลายในเชิงอรรถศาสตร์ (semantics) ที่ทำให้เขามีอิสระในการสร้างผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้อ่านตามที่เขาต้องการอย่างกว้างขวาง; กอปรกับการใช้วลีแบบปฏิพจน์ (oxymoron) จึงยิ่งทำให้ผู้อ่านต้องอ่านช้าลง เพราะต้องคอยพิจารณาความหมายที่ทับซ้อนกันหลายชั้นอยู่ตลอดเวลาแทบทุกประโยค. การอ่านวรรณกรรมของคอนราดจึงไม่ง่าย แม้ในหมู่ผู้อ่านที่เป็นเจ้าของภาษาอังกฤษก็ตาม. หากได้อ่านฉบับภาษาอังกฤษแล้ว ผู้อ่านจะรู้สึกได้ทันทีเลยว่า คอนราดตั้งใจเขียนวรรณกรรมให้คลุมเครือ. กระนั้น วิธีการเขียนเช่นนี้ กลับทำให้วาทศิลป์ของเขามีเสน่ห์ ท้าทาย และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง; และ

สอง: วรรณกรรมเรื่องนี้เขียนขึ้นโดยผสมผสานสุนทรียศาสตร์ทางวรรณกรรม เข้ากับชีวประวัติของผู้เขียน, ประวัติศาสตร์, และค่านิยมของสังคมสมัยนั้นไว้ด้วยกัน—ในแนวทางใหม่ที่โดดเด่นกว่าที่มีอยู่ร่วมสมัยในยุคนั้น จนกล่าวได้ว่าเป็นวรรณกรรมแบบปฏิปักษ์นิยม (antagonism) ที่ไม่เหมือนใคร—โดยที่บริบทที่คอนราดต้องการสื่อความหมาย และกำหนดให้ผู้อ่านเกิดกระบวนจินตภาพ (imagery) และตอบสนองอย่างที่อยากให้เป็นนั้น ถูกตัดขาดจากผู้อ่านปัจจุบันมากว่าร้อยปีแล้ว. ดังนั้นการจะเข้าถึงนยะของวรรณกรรมอย่างแท้จริงได้ ผู้อ่านจะต้องศึกษาชีวประวัติของผู้ประพันธ์ และศึกษาประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวทั้งหมด รวมทั้งบริบททางสังคม-การเมือง ความคิดทางปรัชญา และความก้าวหน้าทางวิทยาการ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีผลในการสร้างแรงผลักดันให้ผลงานปรากฏอย่างที่เห็น.

ด้วยข้อสันนิฐานเหล่านี้ จึงทำให้การจะอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ของคอนราด เพื่อให้เข้าถึงอย่างลึกซึ้งนั้น ไม่ง่ายแต่อย่างใดเลย; ยิ่งหากต้องมาแปลด้วยแล้ว ความยากในการนำพาผู้อ่านให้เข้าใจกระบวนทรรศน์ทั้งหมด ก็เพิ่มเป็นทวีคูณ. . .

(คัดบางส่วนจาก คำนำของผู้แปล ใน "หฤทัยแห่งอันธการ" (๒๕๕๙) แปล/บทวิเคราะห์โดย เกียรติขจร ชัยเธียร, สำนักพิมพ์สมมติ)

ดาวน์โหลด PDF ฉบับเต็ม >>> https://drive.google.com/file/d/0B-pnQPT61FsJcncxNnF2aUQ4ZEU/view?usp=sharing

หมายเหตุ: Youth: A Narrative and Two Other Stories (1902) ซึ่ง Heart of Darkness พิมพ์รวมอยู่ในเล่มนี้ดังที่ผมนำมาให้อ่านนั้น เป็นฉบับพิมพ์ซ้ำในปี 1917 พร้อมคำนำของคอนราด ซึ่งผมก็แปลไว้ใน "หฤทัยฯ" ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้พอเข้าใจที่มาที่ไปของความคิดของคอนราด. ส่วนรูปปกหนังสือ เป็น Heart of Darkness ฉบับสำนักพิมพ์ Tin House Books ปี 2013 ที่ Matt Kish เขียนลายเส้นประกอบได้อย่างน่าสนใจมาก เข้าได้กับ theme ของเรื่อง แม้ผมจะรู้สึกว่ามันยังไม่ลึกซึ้งเท่ากับคำ, วลี, และประโยคที่คอนราดเลือกมาเขียนเพื่อสร้างให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพ. แต่ความสามารถในการแปลภาษาเขียนให้มาเป็นภาษาภาพเป็นอะไรที่ยากจะปฏิเสธในทักษะและจินตนาการของเขาจริงๆ—เขาสร้างสรรค์งานลักษณะเดียวกันนี้กับวรรณกรรมเรื่อง Moby Dick (1851) ของ Herman Melville อีกด้วย. ในที่นี้ ผมจึงเลือกบางภาพในหนังสือมาให้ชมกัน. อ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับงาน illustration ของ Matt Kish ได้ใน: http://www.cincinnatimagazine.com/artsmindsblog/wild-weird-world-matt-kish/ และชมภาพอื่นๆในเล่มได้ใน: https://www.brainpickings.org/2014/01/15/heart-of-darkness-matt-kish/


1 ความคิดเห็น

FWFCC กล่าวว่า...

Distinguished!!


หฤทัยแห่งอันธการ แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

หฤทัยแห่งอันธการ
Heart of Darkness โดย Joseph Conrad
แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

สำนักพิมพ์สมมติ
>> วางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
>> อ่านบางส่วนของ คำนำของผู้แปล
ขับเคลื่อนโดย Blogger.