Introduction to Phenomenology (1999) by Robert Sokolowski [PDF | Introduction, Chap 1-3)
มีเพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งเพิ่งจะตั้งคำถามกับผมเกี่ยวกับปรัชญาและระเบียบวิธีวิจัยของปรากฏการณ์วิทยาที่ผมเขียนใน "ทรฺศน" ปราสาทนครวัด (๒๕๔๙) และ Expereincing Angkor Vat: An Architectural Assessment (2006) ซึ่งเหตุที่ผมไม่ได้เขียนคำอธิบายใดๆไว้ในหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนก็เพราะ ในฉบับพิมพ์ครั้งแรกนั้น ผมต้องการเพียงแค่ให้หนังสือเล่มนี้สร้างแรงบันดานใจแก่ผู้อ่าน และเปิดมุมมองใหม่ในการวิเคราะห์และประเมินค่าสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะโบราณสถานที่เปี่ยมไปด้วยปรัชญาและวิทยาการของฮินดูอย่างปราสาทนครวัดเท่านั้น. แต่หลังจากที่สนพ.อมรินทร์พิมพ์และจำหน่ายจนหมดแล้ว ผมรู้สึกว่าวัตถุประสงค์ของผมออกจะล้มเหลว! เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดของปรัชญาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ในขณะที่ความจำของผมเกี่ยวกับปรัชญาปรากฏการณ์วิทยาได้ลืมเลือนไปจากความคิดผมไปจำนวนมากเกือบหมดแล้ว จึงเป็นความบกพร่องของผมเองที่ไม่ได้บันทึกความรู้และความเข้าใจในขณะนั้นไว้เป็นตัวอักษรมาจนทุกวันนี้ อันเนื่องจากเดิมผมตั้งใจที่จะขยายความคิดและเขียนคำอธิบายทั้งหมดในการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อพิมพ์ครั้งต่อไป แต่ก็ไม่มีโอกาสอีก เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำ (อาจเพราะกองบรรณาธิการเคยเปรยกับผมว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะที่จะมีไว้ "เก็บ" มากกว่าจะมีไว้ "อ่าน") และคงไม่มีสำนักพิมพ์ไหนกล้าพิมพ์อีก. ในที่นี้ผมจึงอยากขออธิบายพื้นฐานความคิดเบื้องต้นของปรากฏการณ์วิทยา ดังที่ได้ตอบเพื่อนอาจารย์ท่านนั้นไว้ดังต่อไปนี้. . .
ปรากฏการณ์วิทยาเป็นการศึกษาว่าด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งที่บังเกิดขึ้นในปรากฏการณ์ผ่านอายตนะ โดยมีประสบการณ์เหล่านั้นเป็นตัวลำเลียง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสัจจะหรือความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏอยู่โดยรอบนั้นๆอย่างถ่องแท้ อันเป็นปัญหาของมนุษย์มาตลอดประวัติศาสตร์ของอารยธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น เพราะความเข้าใจเช่นนี้เป็นแรงบันดานใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่มีผลต่อชีวิตและจิตวิญญาณของมนุษย์เอง ทั้งศาสนา, ศิลปะ, สถาปัตยกรรม, วรรณกรรม, วัฒนธรรม, เทคโนโลยี, ฯลฯ หรือโดยสรุปคือทุกสิ่งที่อยู่โดยรอบตัวเรา. เพียงแต่ว่าปรากฏการณ์วิทยาเป็นวิชาเพื่ออธิบายความเข้าใจเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ ด้วยวิธีการทางปรัชญาเท่านั้นเอง. การศึกษาปรากฏการณ์วิทยาจะทำให้เรามองเห็นองคาพยพของปรากฏการณ์ทั้งหมด (holistic/whole) ไม่ใช่เพียงแค่เสี้ยวหรือบางส่วนของสิ่งที่ปรากฏ (parts) อันจะทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ (presence) รวมทั้งสิ่งที่ไม่ปรากฏ (absence) และเข้าถึงสารัตถะ (essence) อันมีเอกลักษณ์ (identity) ของปรากฏการณ์นั้นๆ ไม่ใช่เพียงแค่กระพี้ของสิ่งปรากฏที่ซ้อนทับอยู่ในปรากฏการณ์ (manifolds). การเข้าใจในปรากฏการณ์จะทำให้เราเข้าใจตนเอง เพราะมนุษย์เป็นผู้รับประสบการณ์ด้วยสมรรถพล (faculty) ของเราเอง ดังนั้นการที่เราจะเข้าใจในวัตถุที่เข้าใจได้ (intellegible objects หรือหากเทียบภาษาธรรมะคงเรียกว่า วัตถุอารมณ์) จึงต้องเข้าใจกระบวนการทางจิตตะของเราเองก่อนที่จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า. และความเข้าใจในสิ่งทั้งสองเช่นนี้จะยกระดับภาวะจิตใจของมนุษย์ให้สูงส่งขึ้นได้.
เมื่อเข้าใจพื้นฐานของเป้าหมายและหลักการของปรากฏการณ์วิทยาแล้วผู้ที่ต้องการนำปรัชญานี้มาใช้ในการวิจัยจะเข้าใจในระเบียบวิธีวิจัยของวิชานี้มากขึ้น. ผมเคยอ่าน Introduction to Phenomenological Research ของ Heidegger อย่างสับสนเพราะความจริงแล้วมันไม่ใช่ introduction เลยเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยทางปรากฏการณ์วิทยา (Introduction to Metaphysics (1935) ของ Heidegger เล่มนี้ก็พอๆกันแม้จะอ่านง่ายกว่า) ดังนั้นในที่นี้ผมจึงขออธิบายคร่าวๆให้เข้าใจโดยง่าย โดยรายละเอียดสามารถหาอ่านได้ในตำราว่าด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ซึ่งเกือบทุกเล่มจะเขียนถึงระเบียบวิธีวิจัยทางปรากฏการณ์วิทยาไว้ด้วย. การวิเคราะห์ทางปรากฏการณ์วิทยาในกรณีของศิลปะหรือสถาปัตยกรรม เป็นการอธิบายสิ่งปรากฏที่ซ้อนทับอยู่ในปรากฏการณ์อันหลากหลายดังที่ศิลปะหรือสถาปัตยกรรมนั้นๆปรากฏในสภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของตน โดยมีตัวเรา ผู้เป็นคนรับประสบการณ์ ผ่านมิติของกาละ-เทศะที่ Husserl เรียกว่า intersubjectivity โดยเราต้องนำพาสิ่งที่เป็นอัตวิสัย (subjective) ที่เป็นอุตรภาพ (transcendence) อันมีภาวะเหนือกว่าความเข้าใจของมนุษย์ ให้ปรากฏเป็นภาววิสัย (objective) ที่ให้ผู้อื่นเข้าใจและประทับใจเหมือนอย่างที่เรารับประสบการณ์มา ซึ่งนี่เองที่ Husserl จำแนกออกเป็นสามแบบเรียกว่า transcendental reduction (การลดทอนอุตรภาพ), phenomenological reduction (การลดทอนปรากฏการณ์หรือ epoche) และ eidetic reduction (การลดทอนรูปความทรงจำ) ในรูปของการบรรยาย ภาพ ลายเส้น บทกวี หรือสื่ออื่นใดที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นมาเป็นตัวกลาง. ดังนั้นระเบียบวิธีวิจัยของปรากฏการณ์วิทยาจึงเป็นไปในเชิงคุณภาพล้วนๆ ที่มีตัวผู้วิจัยเองเป็น instrument ในการรวบรวมข้อมูล นั่้่นหมายความว่า คุณภาพของการวิจัยแปรผันไปตามคุณภาพของผู้วิจัยไปด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ paradigm หรือแนวทางหรือกรอบที่จะทำให้งานวิจัยมีคุณภาพแต่อย่างใดไม่ เพีงแต่ประเด็นสำคัญของงานวิจัยแบบนี้อยู่ที่ความเข้มงวด (rigorousness) ของระเบียบวิธีการทำวิจัย.
ที่ผมอธิบายมาให้ทั้งหมด คงพอให้เห็นภาพโดยรวม ซึ่งรายละเอียดนั้น ผู้สนใจต้องไปหาอ่านเอาเองครับ. ความจริงแล้ว Husserl และ Heidegger (ตามมาด้วย Sartre, หรือ Merleau-Ponty อันเป็นที่มาของ structuralism, formalism, รวมทั้ง deconstruction) เพียงแค่นำวิธีการทางปรัชญาของนักปรัชญาในอดีต อย่าง Plato (ว่าด้วย form ที่รู้จักกันในชื่อ Platonic Form) มาประยุกต์เพื่ออธิบายและทำให้วิธีการเหล่านั้นก้าวหน้าขึ้นเท่านั้น ซึ่งสำหรับใครที่ศึกษาพุทธธรรม โดยเฉพาะในทฤษฏี "ปฏิจสมุปปบาท" ของพระพุทธเจ้า จะเข้าใจได้ทันทีว่า พระพุทธองค์ทำได้เหนือกว่ามากมายนัก เพราะสามารถอธิบายเหตุ-ปัจจัย (causes and effects) ของปรากฏการณ์ทุกอย่างได้อย่างพิศดารกว่า เพียงแต่ยังไม่มีใครมาประยุกต์ใช้ในเชิงปรัชญาและจิตวิทยาในการการศึกษาปรากฏการณ์เท่านั้นเอง.
ภายหลังจากที่ "ทรฺศน" ปราสาทนครวัด พิมพ์ออกมาแล้ว ผมได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนได้ดีมากๆ เพราะรวบรวมความคิดที่กระจัดกระจายมาเขียนเป็นพื้นฐานอย่างเป็นระบบและอ่านง่ายกว่าหนังสือที่ผมเคยอ่านมาก่อนนี้ทั้งหมด จนผมเสียดาย เพราะหากได้อ่านเล่มนี้มาก่อน สิ่งที่ผมเขียนไว้ใน "ทรฺศน" ปราสาทนครวัด คงจะอ่านง่ายกว่านี้ เพราะสิ่งที่เขียนในเล่มนี้ กล่าวถึงแก่นของหลักการล้วนๆ โดยไม่ต้องมาร่ายว่าคนนั้นเขียนไว้อย่างนี้ อีกคนเขียนไว้อย่างนั้น ฯลฯ รวมทั้งศัพทานุกรมอันวิลิศมาหราให้ปวดเศียรเวียนเกล้า (เล่มนี้มีเท่าที่จำเป็น) ดังนั้นผมจึงแนะนำให้อ่านอย่างยิ่ง เล่มนั้นคือ Introduction to Phenomenology (1999) ของ Robert Sokolowski ซึ่งผมรับประกันเลยว่าไม่ผิดหวัง เพื่อว่าหากได้อ่านเล่มนี้ก่อนแล้ว จะสามารถขยายความคิดไปยังเล่มอื่นๆ ของปรามาจารย์ท่านอื่นๆได้โดยง่าย จะได้ไม่เสียเวลา "งมโข่ง" เหมือนอย่างผม.
ในที่นี้ผมตัดเฉพาะ Introduction และบทที่ 1-3 มาให้ลองอ่านกันดูครับ.
ดาวน์โหลด PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-pnQPT61FsJYkRZSHYxWFFaaVE/view?usp=sharing
Post a Comment