Apocalypse Now (1979) Directed by Francis Ford Coppola


ผมไม่เห็นว่าสงครามจะสรรค์สร้างสุนทรียภาพใดๆให้แก่ผม. ภาพยนตร์สงครามประเภทยกย่องวีรบุรุษอย่างเช่น The Longest Day (1962), The Dirty Dozen (1967), A Bridge Too Far (1977) ซึ่งมีลักษณะเป็น propaganda จึงเป็นอะไรที่ผมไม่ประทับใจ เพราะเป็นเหมือนการเชิดชูวีรภาพฝ่ายตนโดยสร้างค่านิยมที่ผิดให้แก่ผู้ชม ให้มีทัศนคติต่อสงครามอย่างชื่นชมด้วยชาตินิยมสุดโต่ง และมองการประหัตประหารกันว่าเป็นการแสดงออกถึงความกล้าหาญ ความรักชาติ และเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่ต้องมีฝ่ายหนึ่งฝายใดต้องตาย (ในจำนวนนับไม่ถ้วน). มีเพียงภาพยนตร์สงครามที่จัดอยู่ในประเภท anti-war ที่นำเสนอภาวะจิตใจของมนุษย์ท่ามกลางสงคราม อย่างเช่น All Quiet on the Western Front (1930), Paths of Glory (1957), Das Boot (1981), Born on the Fourth of July (1989) เท่านั้น ที่ผมชื่นชม และ Apocalypse Now (1979) ก็เป็นเรื่องหนึ่งในนั้น แม้จะไม่ใช่หนังประเภท anti-war เสียทีเดียว แต่เป็น drama ที่มีความรุนแรงเป็นองค์ประกอบของเรื่อง ดังที่ Francis Ford Coppola นิยามภาพยนตร์เรื่องนี้ของเขาว่าเป็น "philosophic inquiry into the mythology of war and the human condition" โดยมีพื้นฐานมาจาก. . .

วรรณกรรมคลาสสิก Heart of Darkness #หฤทัยแห่งอันธการ (1899) อันมีชื่อเสียงของ Joseph Conrad.

ภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นจากความความฝังใจของ John Milius ที่สมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ University of Southern California School of Cinema-Television นั้น อาจารย์ผู้สอนเคยกล่าวถึงวรรณกรรม Heart of Darkness ว่ายังไม่มีใครทำเป็นภาพยนตร์ได้สำเร็จ เขาจึงนำความคิดที่จะทำในรูปแบบสงครามเวียดนาม ที่ขณะนั้นกำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมอเมริกันปี 70s มาพูดคุยกับเพื่อนในกลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่ที่เรียกว่า "movie brats" อย่าง Francis Coppola โดยตกลงที่จะให้ George Lucas เป็นผู้่กำกับ ด้วยต้นทุนที่ต่ำและอยากเข้าไปถ่ายทำในท่ามกลางสงครามเวียดนามจริงๆ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้. แต่เมื่อ Lucas ติดพันอยู่กับการทำ Star Wars (1977) ดังนั้น Coppola จึงเข้ามาสานต่ออย่างเต็มตัวในนามของ Zoetrope Studios และทำให้สำเร็จเป็นจริงด้วยความเสี่ยงทุกอย่างที่เขามี ทั้งทรัพย์สินเงินทองที่ได้จาก The Godfather (1972, 1974) ทั้งสองภาค และสภาพจิตใจที่เกือบทำให้เขาต้องหายนะ.

เนื่อหาโดยรวมของภาพยนตร์ยังคงรักษา theme หลักของ Heart of Darkness ไว้เกือบครบถ้วน เพียงแต่เปลี่ยนองค์ประกอบของเรื่องเกือบทั้งหมด จากเดิมที่เป็น imperialism ให้มาเป็น interventionism และเปลี่ยน setting จากรัฐอิสระคองโกให้มาเป็นสงครามเวียดนาม—ตามแรงบันดานใจที่ได้จากหนังสือชื่อ Dispatches (1968) ของ Michael Herr ดังปรากฏในบทและคำพรรณาหลายๆตอนกับตนเอง (voice-over narration) ของ Cap. Willard (แสดงโดย Martin Sheen เทียบได้คือ Marlow ในนวนิยาย)—และเปลี่ยนให้ Cap. Willard เดินทางไปหา Col. Kurtz (แสดงโดย Marlon Brando หรือ Mr. Kurtz ในนวนิยาย) เพื่อที่จะลอบสังหาร (ในเรื่องใช้คำที่กลายเป็นวลีเด็ดว่า "terminate with extreme prejudice") เนื่องจากกองทัพสหรัฐฯเห็นว่า Col. Kurtz เสียสติและวิธีการของเขานั้นมันวิปลาส โดยมีกองกำลังที่จัดตั้งจากชนพื้นเมืองในตะเข็บชายแดนกัมพูชาเป็นของตนเอง ซึ่งปฏิบัติการด้วยอัตตาณัติ (autonomy) อย่างโหดเหี้ยมกับทุกฝ่ายที่เข้ามาแทรกแทรง. การเดินทางของ Cap. Willard ไปหา Col. Kurtz ไม่ต่างกับความใคร่ครวญที่ Marlow มีต่อ Mr. Kurtz เพราะยิ่งเขาเดินทางใกล้สู่ Kurtz เท่าไร ภาวะของเขาก็ยิ่งใกล้เคียงกับ Kurtz เท่านั้น เพียงแต่ในภาพยนตร์นั้น Col. Kurtz เป็นผู้เรียกร้องให้ Cap. Willard สังหารตนเพื่อให้หลุดพ้นจากความอ่อนแอและภาวะทรมานในจิตใจที่เป็นอยู่. คำสุดท้ายที่ Col. Kurtz กล่าวว่า "The horror!, the horror!" จึงมีนยะที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งนับว่า Francis Coppola ได้พยายามรักษาแก่นเรื่องของ Conrad ในการเข้าถึงภาวะจิตใจในด้านมืดของตัวละครไว้อย่างครบถ้วน ด้วยรายละเอียดของบทและองค์ประกอบในภาษาภาพยนตร์ที่ส่งเสริมให้เรื่องนี้โดดเด่นขึ้นมาอย่างน่าประทับใจ.

เรือลาดตระเวน (PBR) ที่ Cap. Willard เดินทางร่วมกับนายทหารสี่คนคือ Chief (แสดงโดย Albert Hall), Chef (แสดงโดย Frederic Forrest), Lance (แสดงโดย Sam Bottoms), และ Mr.Clean (แสดงโดย Laurence Fishburne) เป็นเหมือน microcosm ของนโยบายรัฐบาลสหรัฐในการแทรกแทรงกระบวนการรวมชาติอย่างสันติของเวียดนามด้วยกำลังทหาร อันเนื่องมาจากมายาคติของภัยคอมมิวนิสม์ที่ตนเองสร้างขึ้น ที่แสดงออกถึงความไร้แก่นสาร (absurdity) ของสงครามในเวลาต่อมา—โดย Francis Coppola ใช้อุปลักษณ์ในฉากการเผชิญหน้ากับเสือ ที่ทำให้ Chef แสดงอาการเสียสติด้วยความตกใจ ซึ่งพาให้ทุกคนบนเรือต่างตระหนกไปด้วยกันทั้งหมด. พัฒนาการทางจิตที่ปลุกเร้าด้านมืดในจิตใจของตัวละครทุกตัวในเรื่องและสะสมมาตลอดการเดินทางในเรื่อง นำไปสู่ความวิปลาสของทหารตัวละครที่กระทำต่อชาวเวียดนาม บนเรือที่พวกเขาตรวจค้น ซึ่งปรากฏเป็นจริงในอุบัติการณ์การสังหารหมู่ที่หมู่บ้านหมี่ลาย (My Lai Massacre: 16 March 1968) โดยกลุ่มทหารอเมริกันอันโหดเหี้ยมเกินความเป็นสัตว์มนุษย์. Francis Coppola พยายามใช้ศิลปะของภาพยนตร์ในการสร้างสัญญลักษณ์อย่างมากมาย ทั้งที่ตรงกับที่ Conrad เขียนไว้ในนวนิยาย และทั้งที่เขาคิดขึ้นมาใหม่เอง เช่นการใช้หมอกควันที่ครอบคลุมเรืออันเป็นอุปลักษณ์ของการถูกครอบงำในความคิดและความคลุมเครือที่มีอยู่ในจิตใจของ Cap. Willard; การโจมตีเรือ PBR ด้วย "ก้านไม้" ที่บอกถึงความกลัวอย่างไร้เหตุไร้ผล และ "คมหอก" ที่ปลิดชีวิตของ Chief ผู้มีบทบาทที่ขัดแย้งในเรื่องการใช้อำนาจกับ Cap. Willard แต่มีความสัมพันธ์กับ Mr.Clean ในลักษณะอาทรเหมือนพ่อกับลูก; หรือการเปิดทางของเรือชาวเขมรลื้อที่ทาตัวด้วยสีขาวจำนวนมาก เพื่อให้เรือของ Cap. Willard เข้ามาสู่ที่มั่นของ Col. Kurtz ที่เปรียบเหมือนการเปิดทวารสู่นรกานต์ใน Aeneid ของ Virgil หรือ Inferno ของ Dante ดังที่ Conrad เขียนไว้ในบทประพันธ์ เป็นต้น.

ฉากการสังหาร Col. Kurtz ในตอนจบ เป็นอะไรที่ผมดูแล้วทำให้นึกถึงปรัชญา "กรฺมโยค" ของฮินดู เพราะ Coppola พยายามแสดงให้เห็นว่า Cap. Willard สังหารอย่างปราศจากอารมณ์ใดๆอย่างแท้จริง อันอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ทหารชาวเขมรพื้นเมืองของ Col. Kurtz มอง Cap. Willard เหมือนดังพระเจ้า ผู้บรรลุธรรมโดยสิ้นแล้ว. แต่ต้นตอที่มาของแนวคิดในตอนจบในเรื่องคงจะไม่เป็นอย่างที่ผมนึกคิดเอาเองเช่นนั้น. ที่เป็นไปได้ Francis Coppola น่าจะได้ความคิดมาจากหนังสือเรื่อง The Golden Bough (1890, 2 vols) ของ James George Frazer—ดังปรากฏหนังสือเล่มนี้ในฉากห้องพักของ Col. Kurtz ในภาพยนตร์—ที่ศึกษาเกี่ยวกับ myth และ folklore โบราณ โดยในเล่ม Frazer กล่าวถึงความเชื่อโบราณที่ว่า เนื่องจากภาวะของกษัตริย์ที่ถูกบูชาเหมือนดั่งพระเจ้ามีความสัมพันธ์กับความมั่งคั่งของชุมชน ดังนั้นเมื่อใดที่กษัตริย์เริ่มอ่อนแอ เขาต้องถูกปลดหรือสังหาร และแทนที่ด้วยกษัตริย์องค์ใหม่ที่เข้มแข็งกว่า—ส่วนหนังสืออีกเล่มที่อยู่คู่กันในฉาก อันยิ่งตอกย้ำการตีความหมายเช่นนี้ก็คือ From Ritual to Romance (1920) โดยศิษย์ของ Frazer เองคือ Jessie Weston ก็เป็นการศึกษาในเรื่องเดียวกัน แต่เจาะลึกถึงตำนาน Holy Grail; หรือไม่เช่นนั้น Francis Coppola ก็คงได้แนวคิดจากหนังสือเรื่อง Totem and Taboo (1913) ของ Sigmund Freud ที่กล่าวถึงการเริ่มต้นของสังคมใหม่ที่เริ่มจากการสังหารบิดาหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งเหมือนอย่างเช่น Oedipus ซึ่งเพลง The End ที่นำมาเป็นเพลงประกอบ น่าจะบอกนยะบางอย่างเช่นนั้นด้วย.

นอกจากเพลงบรรเลงประกอบ (scores) ที่แต่งโดย Carmine Coppola บิดาของ Francis Coppola แล้ว ในเรื่องนี้เขาเลือกเพลงของผู้อื่นมาประกอบภาพได้อย่างลงตัวจริง ๆ โดยเฉพาะ The End (1966) ของ The Doors ที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับตำนาน Oedipus ของกรีก และสัมพันธ์กับทฤษฎีของ Freud โดยนำมาใช้ในฉากเปิดเรื่องและใน climax ของเรื่องอย่างเข้าถึงอารมณ์; หรือฉากการโจมตีหมู่บ้านเวียดกงชายฝั่งทะเลทางอากาศ ที่ Lt. Kilgore (แสดงโดย Robert Duvall) เปิดเพลง Ride of the Valkyries (1870) ของ Wilhelm Richard Wagner เพื่อปลุกใจกองทหารม้า (เฮลิคอปเตอร์) ของเขา เพียงเพื่อเปิดทางให้แก่เรือ PBR ของ Cap. Willard และเพื่อลงเล่นกระดานโต้คลื่นในชายหาด (เพราะ "Charlie don't surf !") ก่อนถล่มด้วยระเบิดนาปาล์ม และคำพูดที่ว่า "The smell, you know that gasoline smell, the whole hill. Smelled like - victory." เป็นอะไรที่แสดงออกทางจิตวิทยาถึงความบ้าสงคราม ด้วยจิตใจที่ไม่มั่นคงภายในภายใต้การแสดงออกที่แข็งกร้าวภายนอกได้เป็นอย่างดี.


ในปี 2001 Francis Coppola ได้นำ Apocalypse Now ฉบับ Redux ที่นำฉากที่ถูกตัดออกไปใน version แรกหรือ original cut ออกมาฉายในโรง. ส่วนที่เพิ่มมา 49 นาทีใน Redux โดยหลักมีอยู่สองฉาก: ฉากแรกคือเหตุการณ์ภายหลังงานโชว์ของ Playmate ในค่ายทหารริมแม่น้ำ (ที่ปรากฏตัวพร้อมเพลง "Suzie Q" ของ CCR: Creedence Clearwater Revival) เมื่อเรือ PBR ของ Cap. Willard มาพบเฮลิคอปเตอร์ของกลุ่ม Playmate เหล่านั้นระหว่างทางเพราะน้ำมันหมด และฉากที่สองเกี่ยวกับไร่ของครอบครัวเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่ Cap. Willard พบระหว่างทางหลังจากนั้น (Francis Coppola คงต้องการเสียดสีการเข้ามาแทรกแทรงเวียดนามของรัฐบาลสหรัฐฯว่ามันไร้สาระยิ่งกว่าการเสแสร้งในความเป็นหนึ่งเดียวกับอาณานิคมของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสเสียอีก) ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ได้ส่งเสริมเนื้อหาของเรื่องให้ดีขึ้นเลย. การที่ Francis Coppola ตัดฉากเหล่านั้นออกไปใน original cut อันด้วยสาเหตุที่เขาเห็นว่าเขาควบคุมอะไรไม่ได้ ฉากที่สิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมากนี้จึงออกมาไม่ได้ดังที่เขาปรารถนานั้น เป็นอะไรที่สมควรแล้ว เพราะมันห่วยแตกจริงๆ และทำให้ theme ของเรื่องทั้งหมดล้มเหลว—รวมทั้งฉากของ Col. Kurtz ในตอนท้ายอีกนิดหน่อย ซึ่งเดิมที่ทำให้ตัวละครสำคัญผู้นี้คลุมเครือนั้นก็ดีอยู่แล้ว สิ่งที่เพิ่มเข้ามานี้กลับทำให้บุคลิกของ Col. Kurtz น่าสนใจน้อยลง.

ในปีเดียวกันกับที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายนั้น Eleanor Coppola ภรรยาของ Francis Coppola ได้พิมพ์หนังสือชื่อ Notes On the Making of Apocalypse Now (1979) อันเป็นบันทึกประจำวัน (diary) ของเธอเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นลำดับในการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ฟิลิปปินส์ช่วงปี 1976-1978 (และเขียนเพิ่มปี 1991 ในฉบับตีพิมพ์ปีที่สารคดีของเรื่องนี้ออกฉายในโทรทัศน์) ที่เกี่ยวข้องกับสามีของเธอและครอบครัว. บันทึกนี้น่าเบื่อมากที่จะอ่าน แต่ก็มีเกล็ดที่จะทำให้ผู้สนใจในการทำภาพยนตร์ได้เห็นความทุ่มเททั้งกายและใจของผู้ทำงานศิลปะแขนงนี้ โดยเฉพาะวิธีการทำงานของ Francis Coppola ที่มีลักษณะทำไปแก้ไปได้เป็นอย่างดี. แต่สิ่งที่ Eleanor Coppola เขียนในเล่มนี้กลับไม่น่าเบื่อ เมื่อปรากฏเป็นสารคดีชื่อ Hearts of Darkness: A Filmmaker's Apocalypse (1991) ที่นำข้อความในบันทึกมาเล่า (บรรยายโดย Eleanor) ประกอบกับบทสัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้อง และบรรยายกาศในกองถ่าย โดยแก่นของสารคดีอยู่ที่ตัว Francis Coppola เอง ในความพยายามที่จะคิดบทตอนจบของเรื่องให้มีเหตุมีผล ซึ่งเขาดิ้นรนแสวงหามาตลอดการทำงานเรื่องนี้ และได้ improvise ร่วมกับนักแสดงในเรื่อง ทั้ง Marlon Brando, Martin Sheen, และ Dennis Hopper จนได้ข้อสรุปดังปรากฏให้เห็นในเรื่องเมื่ออกฉาย.




หมายเหตุ: ในตอนจบของสารคดี Francis Coppola กล่าวสิ่งหนึ่งซึ่งตรงกับที่ Dennis Hopper—ผู้แสดงเป็นช่างภาพอิสระในกองทัพของ Col. Kurtz และเทิดทูนเขาว่าเป็นอัจฉริยะ เทียบได้คือชายหนุ่มรัสเซียที่แต่งตัวเหมือนตัวตลกฮาลูควินในนวนิยาย—กล่าวไว้ในบันทึกของ Eleanor Coppola (p.145) และมีแนวโน้มที่ปรากฏเป็นจริงทุกวันนี้คือ การสร้างภาพยนตร์ในสมัยนั้น เปรียบคล้ายกับการสร้างป้อมปราการหรือโบสถ์วิหารในยุคกลางที่เป็นการรวมเอาความสามารถและพรสวรรค์ของช่างต่างๆมาทำงานร่วมกัน ทั้งสถาปนิก-วิศวกร, ช่างเขียน, ช่างปั้น ฯลฯ แต่ในอนาคต (ดังที่เริ่มเห็นได้ในปัจจุบันนี้) การสร้างภาพยนตร์จะเหมือนกับศิลปะสมัยใหม่ที่ศิลปินต่างทำงานของตนเองเป็นเอกเทศ นั่นคือต่อไปภาพยนตร์อาจสร้างขึ้นได้โดยคนเพียงคนเดียวที่ทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง ด้วยกล้องขนาดเล็กที่พกติดตัวไปมา. ซึ่งนับเป็นมุมมองของทศวรรษที่ 80s ที่ทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำมาก ซึ่งผมคิดว่าจะปรากฏอย่างเป็นจริงเป็นจังในไม่ช้านี้.

บทภาพยนต์ของ Apocalypse Now สามารถอ่านได้ที่: https://sfy.ru/transcript/apocalypse_now_ts



ไม่มีความคิดเห็น


หฤทัยแห่งอันธการ แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

หฤทัยแห่งอันธการ
Heart of Darkness โดย Joseph Conrad
แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

สำนักพิมพ์สมมติ
>> วางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
>> อ่านบางส่วนของ คำนำของผู้แปล
ขับเคลื่อนโดย Blogger.