การอนุรักษ์ในมุมมองอภิปรัชญา | Metaphysical Aspect of Natural Preservation
มุมมองของมนุษย์ที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติที่ผ่านมาและที่ยังคงทรงอิทธิพลอยู่ขณะนี้เป็นการมองธรรมชาติที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthro-pocentrism) โดยถือว่าอำนาจทางญาณวิทยาที่มนุษย์มีอยู่สามารถที่จะสร้าง "ระบบ" เพื่อจัดการและครอบงำทุกสิ่งที่อยู่แวดล้อมได้ทั้ง ๆ ที่ดุลยภาพของระบบนิเวศ เชิงพลวัตรหนึ่ง สามารถซึมซับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากน้ำมือของ มนุษย์ได้อย่างจำกัดมาก. ผลลัพธ์ที่ได้จากการพัฒนาความรู้ของมนุษย์โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาจึงยังให้เกิดวิกฤติการณ์ต่อระบบนิเวศของโลกอย่างอเนกอนันต์.
แม้จะมีความพยายามที่จะนำองค์ความรู้ของมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ มาประยุกต์ใช้เพื่อการอนุรักษ์ (หรือบรรเทาวิกฤตินั้น ๆ) แต่เราได้ประจักษ์แล้วว่าความพยายามเหล่านั้นยังไม่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นได้เลย อันเป็นเพราะศาสตร์เหล่านี้ยังเป็นมุมมองและกระบวนการคิดที่แยกส่วนอยู่ ทำให้ยากนักที่จะทำให้เกิดดุลยภาพได้.
วิทยาศาสตร์ยังมองป่าในแง่ของกระบวนการทางชีววิทยาในห่วงโซ่ของระบบนิเวศ แต่ยังขาดความสัมพันธ์เชิงจิตวิญญาณของกระบวนการเหล่านั้นที่มีต่อมนุษย์ ในทางเศรษฐศาสตร์ก็ยังมองทรัพยากรธรรมชาติในเชิงการจัดการซึ่งครอบงำด้วยระบบการตลาดที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้มีอุปสงค์ที่กำหนดโดยผู้มีอำนาจทางการเงิน. เศรษฐศาสตร์ที่ขับเคลื่อนด้วยชนชั้นกฎุมพีได้ปฏิบัติต่อทรัพยากรธรรมชาติด้วยทัศนะที่มองแต่เพียงว่าเป็นแหล่งของรายได้ ที่สามารถดึงมาแปรรูปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มตัวเลขการบ่งชี้ผลสำเร็จเชิงเศรษฐกิจ ทั้งการจ้างงานและการเพิ่มผลิตภัณฑ์-การบริโภคมวลรวมเท่านั้น ดังที่ Murray Bookchin ได้กล่าวไว้ว่า "การปล้นสดมภ์จิตวิญญาณของมนุษย์ด้วยกลไกการตลาดเกิดขึ้นพร้อมกับการปล้นสดมภ์โลกด้วยกลไกทุนนิยม" ทั้งที่พวกเขาควรมองทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ในแง่มุมที่เป็นต้นทุน (capital) หาใช่ค่าใช้จ่าย (expense) อย่างที่ E. F. Schumacher ได้ชี้ให้เห็นมากว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมามากกว่า.
ในทางสังคมศาสตร์แล้วเราพบว่าปัญหายิ่งวิกฤติมากยิ่งกว่า ทั้งในเชิงสังคมและในเชิงการเมืองเพราะความซับซ้อนของความขัดแย้งระหว่างดุลยภาพของป่ากับชุมชน ความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมของชุมชนกับนโยบายของรัฐ จนเกิดกระแสของแนวคิดทฤษฎี "นิเวศแบบอนาธิปไตย" (eco-anarchism) ของ Daniel Quinn ที่เน้นการจัดองค์กรสังคมของชุมชนป่าชนขาดเล็กที่ไม่ขึ้นกับอำนาจของอารยรัฐให้สัมพันธ์กับแรงของธรรมชาติขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัญหาในเชิงปฏิสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับกายภาพจิตวิทยา จริยศาสตร์ จนถึงจักรวาลวิทยา ของมนุษย์โดยตรง.
นอกจากนั้นความเกี่ยวข้องของปัญหาที่เกี่ยวพันกันในระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์อันเนื่องด้วยระบบทุนนิยม (capitalism) ที่ก่อให้เกิดอาการทางสังคมของค่านิยมการบริโภคที่บิดเบือนและมากเกินควรยิ่งทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากเป็นทวีคูณ.
แต่อย่างที่เราทราบกันอยู่ว่า ความคิดที่ก้าวหน้าในเชิงปฏิฐานนิยมเช่นนี้ ก็ยังไม่อาจหยุดยั้งความวิบัติของทรัพยากรธรรมชาติอันเคลื่อนไปตามกลไกลัทธิ modernization (หรือ westernization ) ที่แอบแฝงได้เลย. เราจึงควรที่จะกลับมาย้อนมองดูปัญหาในระดับปรัชญา เพื่อให้เข้าถึงสภาพปัญหาในเชิงภววิทยาอย่างแท้จริง. ก่อนอื่นเราพึงสำเหนียกว่าไม่มีระบบความรู้เชิงญาณวิทยาใดของมนุษย์ที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของอภิปรัชญาที่ต้องตระหนักในคุณค่าความหมาย และเป้าหมายของความเป็นสัตตะของชีวิต.
แต่นยะขอสัตตะในที่นี้ หาใช่ทวิภาคเชิงเหตุผลระหว่างชีวภาพของมนุษย์กับสิ่งที่อยู่แวดล้อม แต่อยู่ที่จริยธรรมที่มีต่อคุณค่าภายใน (intrinsic value) ที่มีต่อสิ่งมีชีวิตอื่น รวมทั้งระบบและกระบวนการตามธรรมชาติทั้งหลาย. นั่นคือเราต้องมองความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อยู่แวดล้อมเรา ไม่ใช่ในมุมมองตามคุณค่าเปรียบเทียบ (relative value) ตามโครงสร้างอนุกรมวิธาน (taxonomy) ที่กำหนดจากระดับความสามารถในการใช้เหตุผล (ในเชิงจิตวิทยา) หรือความซับซ้อนของกระบวนการทางเซลล์ที่ก่อตัวเป็นระบบ (ในเชิงชีววิทยา) ที่เปรียบเทียบกับมนุษย์เป็นสำคัญ. หากแต่เราต้องมองความสัมพันธ์ลึกจนถึงในเชิงอภิปรัชญาที่ว่า "สัตตะทั้งหลายต่างล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสำแดงสัจจะที่เป็นเอก".
สิ่งมีชีวิตอื่นไม่ได้มีคุณค่าต่อมนุษย์ในเชิงการแสวงประโยชน์ แต่มีคุณค่าภายในของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เอง. ความหลากหลายทางชีวภาพเกื้อหนุนให้คุณค่าภายในนั้นเพิ่มพูนมากขึ้นโดยมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายนั้น. ดังนั้นเราจึงไม่สามารถแยกตัวเราออกจากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่แวดล้อม. จิตวิญญาณของเราผูกพันอยู่กับธรรมชาติในทุกระดับของสภาพสิ่งมีชีวิต ทั้งสิ่งมีชีวิตในระดับเซลล์จนถึงระดับจักรวาล. การขยายแดนของเราไม่ใช่การขยายแดนในเชิงกายภาพที่ไปกระทบสภาพของสิ่งมีชีวิตอื่น หากแต่เป็นการขยายแดนที่อยู่ภายในของเรา ให้ซึมซับความงามของสิ่งที่อยู่โดยรอบข้างเพื่อกำจัดทวิภาพของอัตตาภาพ (มนุษย์) และปรวิสัยภาพ (สิ่งแวดล้อม).
เราไม่มองสิ่งแวดล้อมเหมือนหนึ่งว่าเป็นปรปักษ์ที่ต้องกำจัดไป เพื่อปรนเปรอไปตามความประสงค์ของความอยากของเรา. การพัฒนาในอุดมคติหาใช่การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวอ้างถึง "มาตรฐานการครองชีวิต" ของมนุษย์ หากแต่ควรเพิ่มพูนความงามความพึงใจอันมีต่อคุณภาพของชีวิตที่อยู่ท่ามกลางคุณค่าภายในของสิ่งที่อยู่รอบข้าง. เราควรถือกระบวนการทางชีวภาพเป็นศูนย์กลาง (biocentricism) โดยมีโลกเป็นเหมือนเหย้าเดียวกันทั้งผอง. แนวคิดที่กล่าวมานี้แท้จริงแล้วอยู่ภายในหลักปรัชญาของตะวันออกทั้งหลาย ทั้งปรัชญาฮินดู พุทธ เต๋า เซน ซึ่งนักอนุรักษ์สมัยใหม่ของตะวันตกเพิ่งจะเริ่มตระหนักมากขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดังตัวอย่างของแนวคิดของ Fritjof Capra หรือทฤษฎี Deep Ecology (หรือ Ecosophy) ของ Arne Naess หรือ Gaia theory ของ James Lovelock เป็นต้น. แต่ที่น่าเสียดายก็คือปรัชญาตะวันออกอันเคยเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของเราเหล่านี้ถูกลบเลือนไปมากแล้ว เพราะค่านิยมของสังคมที่นำโดยรัฐะผู้กำหนดนโยบายเห็นว่าขัดแย้งกับการพัฒนาไปสู่ความศิวิไลซ์ตามอย่างตะวันตก.
หมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ในอนุสรณ์งานรวมใจอนุรักษ์ พิทักษ์ผืนป่าตะวันตก ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เพื่อเป็นเพียงข้อเสนอทางปรัชญาในเชิงทฤษฎีเท่านั้น การจะประยุกต์ปรัชญาให้เป็นผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัตินั้นอาจเป็นไปได้หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยก็เป็นได้. เงื่อนไขนั้นขึ้นอยู่กับการสร้างความสำนึกให้แก่สังคมให้เข้าถึงจิตวิญญาณของตนเองและของสิ่งที่อยู่โดยรอบ โดยใช้สื่อทางวิญญาณทั้งหลาย ทั้งศิลปะ วรรณกรรม วิถีชนบท ฯลฯ เป็นตัวกลาง. การใช้การจูงใจในทางเศรษฐศาสตร์ หรือทางรัฐศาสตร์ หรือทางสังคมศาสตร์ ไม่อาจสำเร็จได้หากพื้นฐานของมนุษย์ไม่ได้ยกระดับจิตวิญญาณให้สูงขึ้น เพราะเราได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์แล้วว่า มนุษย์ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากประวัติศาสตร์!
Post a Comment