The Wonderful Wizard of Oz (1900) by L. Frank Baum [PDF] & Salman Rushdie's Film Critical Review (1992) [pp.9-25 | PDF]
ในบรรดาวรรณกรรมและภาพยนต์เยาวชนทั้งหมดที่ผมได้อ่านในวัยเยาว์--และถ่ายทอดให้ลูกๆของผมได้อ่านและชมด้วย--The Wonderful Wizard of Oz (1900) ของ Baum รวมทั้งภาพยนต์เพลง The Wizard of Oz (1939) ซึ่งแสดงโดย Judy Garland ในบทของ Dorothy ถือว่ามีอิทธิพลต่อเด็กทั่วโลก และต่อความคิดของผมมากที่สุด. ผมได้ชมภาพยนต์เรื่องนี้ในช่วงอายุประมาณหก-เจ็ดขวบ ก่อนที่จะได้มาอ่านหนังสือในอีกหลายปีต่อมา ซึ่งหากกล่าวไปแล้ว มีภาพยนต์จำนวนไม่มากนักที่จะสามารถสร้างได้ดีกว่าต้นฉบับนวนิยายที่นำมาทำเป็นบทภาพยนต์. ไม่เพียงจินตนาการของ Baum เท่านั้น ที่สร้างความประทับใจให้แก่เด็ก แต่รวมทั้งจินตนาการของ Noel Langley, Florence Ryerson, Edgar Allan Woolf ผู้เขียนบทภาพยนต์ที่ตัดทอนและเพิ่มเติมให้กลมกลืนและเป็นจริงมากขึ้นตามทฤษฎีความฝัน (dream theory) ว่าด้วย condensation ของ Freud และขยายจินตนาการให้กว้างไกลไปจากที่ Baum เขียนไว้ โดยการสร้างอุปมานิทัศน์ (allegory) ในเชิงสัญลักษณ์ของตัวละคร คำพูด เหตุการณ์ สิ่งของ และสถานที่ในเรื่อง ซึ่งล้วนปลูกฝังความคิดในเชิงปัจเจกและความกระหายที่จะค้นพบโลกภายนอกและโลกภายในของตนเอง ด้วยตนเอง เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ทั้งความคิดและการกระทำ โดยที่ไม่ต้องมีพ่อแม่หรือใครๆต้องคอยมาปกป้อง. The Wizard of Oz จึงเป็นเหมือนตัวแทนของความเป็นเด็กที่ต้องการเติบใหญ่ในการเรียนรู้โลกที่อยู่โดยรอบ และแสวงหาโลกใหม่ในอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน ดังเห็นได้จาก theme ของเรื่องที่เป็น. . .
เรื่องราวของเด็กผู้หญิงกำพร้าบ้านนอกชื่อ Dorothy Gale กับฟาร์มอันแห้งแล้งใน Kansas--สังเกตชื่อ Gale พ้องเสียงกับคำว่า grey--ที่อยู่ในโลกความเป็นจริงที่ไม่เหมือนจริง (unrealistic reality) อันลดค่าของเธอในความรู้สึกให้เล็กลง แต่นึกฝันถึงโลกอันเกินจริงที่เหมือนจริง (realistic surreality) บางแห่งที่อยู่อีกฟากฟ้าหนึ่งของสายรุ้ง--"Over the Rainbow" คือเพลงประกอบในเรื่องที่รู้จักกันดีทั่วโลกมาจนทุกวันนี้ ทั้งที่ฉากที่ Garland ร้องเพลงนี้เกือบถูกตัดออกไปแล้ว. เมื่อมีเหตุการณ์ที่ลุงและป้าของเธอไม่สามารถปกป้องเธอจากการใช้กฏหมายของเพื่อนบ้านที่จะพรากเจ้าสุนัข Toto ไปจากเธอได้ เธอจึงหนีออกจากบ้านก่อนมาพบกับ Prof. Marvel นักแสดงมายากลผู้หลอกลวงแต่มีน้ำใจ และทำนายความเป็นห่วงของลุงและป้าจนทำให้เธอต้องรีบกลับไปบ้าน* ก่อนที่พายุหมุนทอร์เนโดจะพัดพาเธอไปสู่โลกในจินตนาการอันมีสีสันและความหวัง. เธอในโลกใหม่ ที่ผู้คนต่างชื่นชมและให้ความสำคัญต่อเธอ ทำให้เธอใหญ่เกินจริง ทั้งขนาดของร่างกาย ความรู้สึก และความมั่นใจ ที่ใครๆต่างมองเธอเป็นวีรสตรีผู้สามารถฆ่าแม่มดตะวันออกผู้ชั่วร้ายได้ด้วยความบังเอิญ. ความเป็นห่วงลุงและป้าของเธอ นำพาเธอมาพบกับเพื่อน ตัวละครผู้เป็นบุคคลาธิษฐาน (personification) ของเธอเอง ทั้งหัวใจและความปรารถนา (ambition - มนุษย์ดีบุก) ความรอบรู้ (knowledge - หุ่นไล่กา) และความกล้าหาญ (courage - สิงห์โต) ในขณะเดินทางไปยังเมืองมรกตเพื่อขอร้องให้พ่อมดแห่ง Oz หาวิธีให้เธอกลับบ้าน. แต่พ่อมดแห่ง Oz กำหนดเงื่อนไขให้เธอไปเอาไม้กวาดของแม่มดตะวันตกมาให้ได้ก่อน เขาจึงจะบันดานให้เธอสมปรารถนา. เมื่อสุดท้ายที่เธอบรรลุเงื่อนไข แล้วมาพบความจริงว่า พ่อมดแห่ง Oz หาได้มีอำนาจใดๆอย่างแท้จริง แม้ว่าเขาจะทำให้เพื่อนทั้งสามสมความปรารถนา แต่ในที่สุดเธอก็ได้กลับบ้าน ด้วยรองเท้าทับทิม เมื่อได้มาค้นพบด้วยตนเองว่า ความจริงแล้วเป็นเธอเองต่างหากที่มีอำนาจนั้น เพราะทุกสิ่งที่เธอแสวงหา ล้วนมีอยู่แล้วภายในตัวของเธอเองทั้งหมด. และนยะของคำที่เธอพูดว่า "there's no place like home" นั้น ไม่ได้หมายถึง home ในความหมายพื้นๆ แต่หมายถึง home อันเป็นที่สถิตย์ของจิตใจของเราต่างหาก ซึ่งไม่ว่า ณ แห่งหนใดในโลกภายนอกที่เราเดินทางไปค้นหาหรือแสวงหา เพื่อขยายขอบเขตของความรู้และก้าวหน้าที่อยู่ในดินแดนอันไกลโพ้น home นี้ก็ยังอยู่กับเราอยู่ทุกแห่งหน. วรรณกรรมและภาพยนต์เรื่องนี้จึงจับใจผู้อ่านและผู้ชมในทุกระดับที่อาจตีความหมายได้.
ในที่นี้ ผมตัดตัวอย่างบางหน้าของบทวิเคราะห์ภาพยนต์เรื่อง The Wizard of Oz (1939) ที่เขียนโดย Salman Rushdie# มาให้อ่านด้วย เพราะผมชอบบทวิเคราะห์ของเขา ที่เข้าได้กับความคิดในเชิงปรัชญา existentiaism แบบ radical ของผม แม้ว่าจะมีผู้วิเคราะห์วรรณกรรมและภาพยนต์เรื่องนี้ไว้หลากหลาย ทั้งในแนวทฤษฎีของ Jung หรือในเชิง feminism หรือ atheism หรืออื่นๆก็ตาม. เมื่อปีที่ผ่านมา ผมและลูกๆได้ชม Oz the Great and Powerful (2013) ของ Disney แต่ก็ต้องผิดหวังอย่างแรง เพราะเทียบอะไรไม่ได้เลยกับที่ Victor Fleming ทำไว้ ซึ่งคงเหมือนกับ Baum ที่ได้เขียนภาคต่อๆมาของ Oz อีกสิบสามเล่ม แต่เขาไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับเล่มแรกของเขาเล่มนี้อีกเลย. The Wonderful Wizard of Oz มีฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยด้วย โดย อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ใครไม่สันทัดภาษาอังกฤษก็ไปหาอ่านกันเองนะครับ.
ดาวน์โหลด The Wonderful Wizard of Oz ฉบับเต็ม PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0NzJDdlJ0UmdyM0k/view?usp=sharing
ดาวน์โหลด Salman Rushdie's Film Critical Review PDF >>>https://drive.google.com/file/d/0B-pnQPT61FsJc1c2aERBYmN4ZEE/view?usp=sharing
หมายเหตุ:
* เป็นส่วนที่ไม่ปรากฏในบทหนังสือของ Baum แต่เพิ่มเติ่มขึ้นมาในบทภาพยนต์.
# Salman Rushdie เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงมากจากนวนิยายเรื่อง The Satanic Verses (1988) ที่ทำให้เขาถูกตั้งค่าหัวจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก แต่นวนิยายที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดของเขาก็คือ Midnight's Children (1981) และในเรื่องนี้ เราจะพอเห็นอิทธิพลของภาพยนต์ The Wizard of Oz ที่มีต่อ Rushdie อยู่พอควร.
Post a Comment