Harp of Burma (1946) by Michio Takeyama, trans. Howard Hibbett (1966) [Chap I-VI | PDF]
ใครที่เคยได้อ่าน The Rape of Nanking (1997) ของ Iris Chang เหมือนผม คงจะรู้สึกเกลียดสงครามและกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ อย่างเข้ากระดูกดำ. ภาพของความโหดร้ายและป่าเถื่อนที่ทหารญี่ปุ่นกระทำต่อคนจีน โดยเฉพาะที่นานกิง เป็นการก่ออาชญกรรมและการฆาตกรรมหมู่ที่คงไม่มีใครจะยอมรับได้. แต่นั่นเป็นแง่มุมหนึ่ง และของคนญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งที่คลั่งในลัทธิ militarism และ ultranationalism ที่มีอำนาจทางการเมืองในขณะนั้น; แต่สำหรับประชาชนญี่ปุ่นทั่วไป และทหารที่ถูกเกณฑ์จำนวนหนึ่ง--โดยเฉพาะในช่วงปลายสงคราม--และนักการเมือง--เช่น Hara Takashi นายกฯที่ถูกลอบสังหารในช่วงก่อนสงครามปี 1921 ที่นำความคิดที่ว่า "แสนยานุภาพนิยมตายไปแล้ว" หรือนักการเมืองฝ่าย liberal โดยเฉพาะในพรรค Minseito ที่ตกเป็นเป้าหมายของ League of Blood Incident ในช่วงปี 1940s--ต่างไม่ได้คิดคล้อยตามไปด้วยกันเช่นนั้นทั้งหมด.
สิบโท Mizushima ในเรื่องนี้ จึงเป็นเหมือน. . .
ตัวแทนของชาวญี่ปุ่นทั่วไปที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในสงครามที่พวกเขาไม่เข้าใจในที่มาที่ไป ในดินแดนที่งดงามแต่แตกต่างในวัฒนธรรมและผู้คน ท่ามกลางความโหยหาถึงครอบครัวและอดีต โดยมีเพียงเสียงเพลงและพิณพม่าเท่านั้นที่ช่วยรักษากำลังใจของพวกเขาเอาไว้ได้. เมื่อสงครามสิ้นสุดลง และ Mizushima พยายามช่วยชีวิตเพื่อนทหารด้วยกันที่่ส่วนหนึ่งไม่ยอมจำนน--และไม่ยอมให้เพื่อนทหารคนอื่นๆจำนนด้วย--กลับเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาที่ทำให้เขารู้สึกขยะแขยงในสงคราม และมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปทุกหนแห่งในพม่าเพื่อจะฝังศพของเพื่อนทหารด้วยกัน รวมทั้งศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยไม่ยอมกลับไปญี่ปุ่นตามคำขอร้องของเพื่อนๆ. จดหมายที่ Mizushima เขียนถึงผู้กอง Inouye ในท้ายเรื่องนั้น นับว่าจับใจผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง.
บางคนอาจเห็นว่านวนิยายเรื่องนี้เหมือนจะเป็นการแก้ต่างของชาวญี่ปุ่นให้กับตนเอง ในการเป็นผู้เริ่มก่อสงครามและก่ออาชญากรรมมากมาย แต่กระนั้น หากตัดอคติทางประวิติศาสตร์เช่นนี้ออกไป และมองในแง่คุณค่าทางวรรณกรรมที่มีต่อผู้อ่านแล้ว--โดยเฉพาะกับเยาวชนญี่ปุ่น เพราะพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Aka Tombo ที่เน้นกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก--นับว่า Harp of Burmese ปลูกฝังความคิดต่อต้านสงครามได้เป็นอย่างดีมาก. การที่ทาง UNESCO สนับสนุนให้ Howard Hibbett แปลเป็นภาษาอังกฤษและพิมพ์ในปี 1966 จึงบ่งบอกได้ถึงคุณค่าของนวนิยายเรื่องนี้ในแง่ของการต่อต้านสงครามเป็นอย่างดี.
ในที่นี้ ผมตัดเอามาเฉพาะสี่บทแรกมาให้อ่านเท่านั้นครับ. ผมได้ชมภาพยนต์ที่สร้างจากนวนิยายเรื่องนี้ version ภาพขาว-ดำ ในชื่อเรื่อง The Burmese Harp (1956) กำกับโดย Kon Ichikawa ซึ่งทำได้ดีมาก--ผมชอบพอๆกับฉบับหนังสือ แม้จะมีบางจุดที่ต่างกันหรือบางส่วนที่ถูกตัดออก--แต่ version ภาพสี ที่ Kon Ichikawa เอามาสร้างใหม่ในปี 1985 นั้น ผมยังไม่ได้ชมครับ. ภาพยนต์ของญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับประชาชนธรรมดาๆในช่วงสงครามที่น่าดูมากๆอีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบและนึกได้ตอนนี้คือเรื่อง Kabei, Our Mother (2008) ของ Yoji Yamada. ลองไปหาชมกันนะครับ จะได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของญี่ปุ่น ที่ห่างจากลัทธิ militarism อย่างที่คนโดยมากรู้สึกและเข้าใจกัน.
ดาวน์โหลด PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0dVY0OHN2MFRTOVE/view?usp=sharing
Post a Comment