The Ramayana of Valmiki, trans. by Ralph T. H. Griffith (1870-1874) & Hari Prasad Shastri (1952) [PDF]


บทกวีมหากาพย์ (สฺมฤติ) ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของชาวอินเดียที่นับถือฮินดูมากที่สุดมีอยู่สองเรื่องคือ รามายณ และ มหาภารต--หากประมาณอายุและเนื้อหากันแล้ว นักวิชาการจำนวนมากเห็นพ้องกันกว่า รามายณ น่าจะมาก่อน มหาภารต--อันมีเนื้อหาที่เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ (อิติหาสฺ) ของกษัตริย์อินเดียในอดีตอันไกลโพ้น. สำหรับ รามายณ แล้ว บทกวีที่พราหมณ์ วาลมีกิ รจนาในนั้น ไม่ใช่เพียงการเล่าเรื่องแบบจินตนาการ แต่ทั้งหมดแฝงนยะเชิงอุปมานิทัศน์ (allegory) และ esotericism ที่สัมพันธ์กับจริตและปรัชญาของฮินดู รวมทั้งในเรื่องความเป็นแบบอย่าง (archetype) อันมีเป้าหมายเพื่อดำรงจริยธรรม (ethics) ของประชาขนอันเป็นวิธีการหนึ่งในการกำหนดระเบียบสังคม (social order) ของประชาชนทั่วไปในอดีต*--ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพุทธ แม้ว่าพระพุทธองค์จะกำหนดระเบียบสังคมของสงฆ์ ใน วินยปิฏก แต่สำหรับฆราวาสแล้วทรงไม่เคยกำหนดไว้โดยตรงแต่อย่างใด--และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไม ศาสนาฮินดูและสังคมฮินดูจึงยังคงดำรงอยู่มาได้นานนับหลายพันปี และทำไม หลายๆประเทศในอุษาคเนย์จึงนำ รามายณ มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการขัดเกลาจิตใจของประชาราษฏร์ในอดีต--แม้จะขาดมิติต่างจากต้นแบบไปบ้างมากพอควร. . .

อิทธิพลของ รามายณ ยังปรากฏอยู่ในศิลปะทุกแขนง ทั้งประติมากรรม จิตรกรรม และนาฏศิลป์ ดังที่จะเห็นได้ในศาสนสถานฮินดูทั้งหลายในอินเดีย รวมทั้งส่งผลไปทั่วทั้งอุษาคเนย์ อย่างเช่นพุทธประสม animism แบบไทย ที่แปลงและตัดต่อเนื้อหาให้เป็นวรรณคดีที่เหมาะกับจริตของชนชั้นปกครองแบบที่ตนเป็นอยู่ ซึ่งยังผลสะท้อนกลับไปยังกัมพูชา ทั้งๆที่เป็นต้นแบบอารยธรรมของภูมิภาคนี้บนแผ่นดินใหญ่--ซึ่งปรากฏ รามายณ แบบดั้งเดิมในประติมากรรมขอมมาก่อนแล้วนับจาก คริสต์ศตวรรษที่ 8--หรือรวมทั้งลาวที่รับต่อกันมาอีกทอดหนึ่ง; ส่วนภูมิภาคนี้ที่อยู่บนเกาะอย่างอินโดนิเซียหรือฟิลิปปินส์นั้นมีพัฒนาการของ รามายณ ที่แตกต่างกันไป. ดังนั้น รามายณ จึงเป็นมหากาพย์พื้นฐานที่เราควรอ่าน--และอ่านอย่าง skeptic ไม่ใช่อ่านอย่างงมงายหรือสนุกสนานไปกับจินตนาการที่เหนือจริง--เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของอารยธรรมอินเดียและอุษาคเนย์ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย.

ในที่นี้ผมนำฉบับภาษาอังกฤษที่แปลแบบเต็มๆ ไม่ใช่เรื่องย่อ จากต้นฉบับภาษาสันสกฤตทั้งที่เป็นร้อยแก้ว (prose) คือฉบับของ Hari Prasad Shastri และร้อยกรอง (verse) แบบมีสัมผัส คือฉบับของ Ralph T. H. Griffith มาให้อ่านกัน เพราะผมชอบทั้งสองฉบับนี้มากที่สุด แม้ว่าทุกคนคงต้องใช้เวลาอ่านกันนานหน่อยก็ตาม. ฉบับของ Shastri มีทั้งหมดสามเล่ม แปลครบทั้งเจ็ดกาณฺฑ แต่ฉบับของ Griffith จะแปลเพียงหกกาณฺฑแรกเท่านั้น เพราะเขาพิจารณาแล้วเห็นว่า กาณฺฑที่ ๗ เป็นส่วนที่เขียนเพิ่มมาภายหลังเท่านั้น เขาจึงแปลกาณฑที่ ๗ นี้เป็นแบบย่อความ เอาไว้ในภาคผนวกให้เท่านั้น--ความจริง Griffith แปลและตีพิมพ์ รามายณ เป็นชุดจำนวนห้าเล่ม ในช่วงปี 1870-1874 แต่ผมเอาฉบับที่รวมทั้งห้าเล่มมาอยู่ในเล่มนี้เล่มเดียว ดังนั้นตัวพิมพ์อาจเล็กและแน่นไปหน่อย แต่ก็อ่านได้อ่านดีครับ. หากใครอยากจะหาฉบับ abridged มาอ่าน ผมแนะนำฉบับของ Arshia Sattar (2003) ครับ ผมเห็น lecture ของเธอเกี่ยวกับแนวคิดในการแปล รามายณ ใน youtube ด้วยที่ >> https://www.youtube.com/watch?v=S354AgrcLUU ใครสนใจ ลองเข้าไปดูกันครับ.

ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม Hari Prasad Shastri (1952) PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0em16WW5scHZHQ3M/view?usp=sharing
ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม Ralph T. H. Griffith (1870-1874) PDF >>>https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0b283T3NsTldFakE/view?usp=sharing

 หมายเหตุ:
* นักวิชาการฝรั่งพยายามโยง รามายณ ว่าได้รับอิทธิพลมาจากมหากาพย์ Iliad ของ Homer--หรือแม้แต่กับ Aeniad ของ Virgil--ในเรื่องของ plot ที่ใกล้เคียงกันในบางจุด แต่หากใครได้อ่านทั้งสองเรื่องนี้ในประเด็นของเนื้อหาและจิตวิญญาณแล้วจะเห็นได้ว่าห่างไกลจากกันมาก. ในอินเดียเอง มหากาพย์รามายณ ยังมีฉบับที่เขียนขึ้นภายหลังให้เหมาะกับฮินดูชนโดยทั่วไป และเป็นการเขียนที่เน้นในเรื่องจริยธรรมเป็นหลัก. ฉบับที่น่าสนใจคือ อธฺยตฺมรามายณ และ ศฺรีรามจริตมานส ซึ่งมีแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย แต่ผมยังไม่เคยอ่าน.

ไม่มีความคิดเห็น


หฤทัยแห่งอันธการ แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

หฤทัยแห่งอันธการ
Heart of Darkness โดย Joseph Conrad
แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

สำนักพิมพ์สมมติ
>> วางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
>> อ่านบางส่วนของ คำนำของผู้แปล
ขับเคลื่อนโดย Blogger.