Contact (1985) by Carl Sagan [Chap I-V | PDF]
ในจำนวนนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ผมได้อ่านมาทั้งหมด Contact เป็นนวนิยายอวกาศที่สุดยอดที่สุดในความคิดของผม--เหนือกว่า 2001: Space Odyssey ของ Arthur C. Clarke ด้วยซ้ำ--ไม่เพียงในแง่มุมของความสร้างสรรค์เท่านั้น แต่มันเป็นการประมวลอารยธรรมทางความคิดเกือบทั้งหมดของมนุษย์ไว้ในเรื่องนี้; ทั้ง mathematics, cosmology, astrophysics, philosophy รวมทั้ง theology ที่ลึกซึ้ง และเป็นจริงเป็นจังเกินกว่าจะเป็นเพียงแค่จินตนาการ. อีกทั้งนวนิยายเรื่องนี้ยังเป็นการตั้งวิมติต่อวิมตินิยม (skeptic on skepticism) ที่มนุษย์สมัยใหม่ต้องมาทบทวนความรู้และความเชื่อทั้งหมดของตนเอง ที่มีมาตลอดอารยธรรมนับหมื่นปีที่ผ่านมาใหม่.
Contact หาใช่เป็นเพียงแค่นวนิยายเกี่ยวกับการค้นหาสิ่งมีชีวิตในต่างดาว (extraterrestrial life form) และการผจญภัยโดยยานอวกาศอันสูงส่งด้วยเทคโนโลยีจากนอกโลก ที่สามารถเดินทางผ่าน wormholes ผ่านมิติของ time-space ไปยังกาแลกซีต่างๆได้ เหมือนอย่างในนวนิยายเล่มอื่นๆที่มีอยู่ร่วมสมัยกันหรือก่อนนี้. แต่ในเรื่องนี้ Sagan ต้องการสื่อให้เห็นว่า. . .
ความยึดมั่นในหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ละเลยทุกอย่างที่ขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ บางครั้งทำให้มุมมองของมนุษย์ถูกตัดขาดจากสัจจะเชิงอุตรภาพบางอย่างที่อยู่เหนือการพิสูจน์ใดๆ. นักวิทยาศาสตร์ควรที่จะต้องมีศรัทธาในบางอย่างที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ (leap of faith) เพื่อนำความคิดและจินตนาการไปสู่สัจจะที่เหนือกว่านั้น เพราะวิทยาศาสตร์สามารถ approach สัจจะสูงสุดของธรรมชาติได้อย่างจำกัด--และเป็นการมองสัจจะนี้อย่างกระจัดกระจาย ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากมุมมองไหนเท่านั้น แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะกำหนดทฤษฎีของสรรพสิ่ง (theory of everything) ที่เชื่อมโยงปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ทั้งหมดในจักรวาลไว้ในทฤษฎีเดียว ก็ตามที. และสิ่งนี้คือ theme ของเรื่องทั้งหมดที่ Sagan ต้องการบอกให้ผู้อ่านทราบ โดยตลอดการนำทางของเรืองที่ Sagan พาผู้อ่านไป เขาได้แทรกสาระทางคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอวกาศมากมายเอาไว้ตลอดทางจนมาบิด (twist) ความเชื่อทั้งหมดของผู้อ่านและของ Eleanor Arroway (Ellie) ตัวละครเอก ไว้ในบทท้ายๆ ทั้งความเชื่อที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอและพ่อ-แม่ของเธอเอง และความเชื่อในทางวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์--เมื่อสุดท้าย Ellie ได้มาทำโครงการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ค่า irrational แล้วคนพบว่าค่า pi (π) ที่ทศนิยมตำแหน่งที่ 1020 ขึ้นไป หากเมื่อเปลี่ยนเป็นเลขฐาน 11 (undecimal) แล้วทำการแปลงเป็น digital (0,1) ก่อน rasterize ให้เป็น pixel แล้ว กลับได้เป็นภาพวงกลม! เหมือนว่าทุกสิ่งในจักรวาลนี้ได้ถูกกำหนดให้มี pattern ที่แน่นอนอยู่แล้วโดยบางสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่าสิ่งใดๆทั้งปวง (God)--ซึ่งทั้งหมดที่ผมกล่าวนี้ ถูกตัดออกไปในภาพยนต์ที่กำกับโดย Robert Zemeckis ในปี 1997.
Carl Sagan เป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่อยู่แนวหน้าในยุคของเขา--นักฟิสิกส์ในปัจจุบันที่ผมชอบในจินตนาการของเขาคือ Michio Kaku--และไม่เพียงเท่านั้น Sagan ยังสนใจในอินเดียศึกษาและเคยเขียนบทความเกี่ยวกับทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ของอินเดีย และเขาเป็นศิษย์เอกคนหนึ่งของ สุพรหมานยัน ฉันทรเศขร ด้วย--Subrahmanyan Chandrasekhar ผู้ได้รางวัล nobel สาขาฟิสิกส์ในปี 1983 จากทฤษฎีคณิตศาสตร์ในการคำนวณหลุมดำ. ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่า ความคิดของเขาที่อยู่ในนวนิยายเรื่องนี้--รวมทั้งใน non-fiction เล่มอื่นๆของเขา--จะสามารถสืบสาวได้ไปถึงคัมภีร์พระเวทและปุราณของอินเดีย. Contact เป็นนวนิยายเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ Sagan เขียนก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 1996 โดย สนพ.Simon & Schuster ให้เงินล่วงหน้าแก่ Sagan ในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ถึง $2M เหรียญสหรัฐฯ! และเมื่อหนังสือเล่มนี้ก็ออกวางจำหน่ายได้เพียงสองปี ยอดขายก็ทะลุกว่าสองล้านเล่มแล้ว! อย่างนี้จะไม่อยากอ่านได้อย่างไรครับ. . .
ในที่นี้ผมตัดมาให้อ่านเพียงห้าบทแรกเท่านั้น. ลองไปหาฉบับเต็มอ่านกันนะครับ. ผมรับรองว่าไม่ผิดหวัง เพราะลึกซึ้งเกินกว่าที่ภาพยนต์ที่จะทำออกมาได้. ยังมีหนังสือเล่มอื่นๆของ Sagan ที่ผมได้อ่าน. แล้วจะทะยอยนำมาแนะนำให้อ่านกันครับ.
ดาวน์โหลด PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0ZjJtN0k4YWZYdDQ/view?usp=sharing
บทความที่เกี่ยวข้อง: A History of Pi (1970) by Petr Beckmann
Post a Comment