Thus Spoke Zarathustra: A Book for None and All (1883-1892) by Friedrich Nietzsche, trans. Walter Kaufmann (1954) [Preface & Part I | PDF]


Zarathustra ออกจากถ้ำ หลังจากที่เขาปลีกวิเวกอยู่ในนั้นนานกว่าสิบปี แล้วจึงรีบลงเขาด้วยความปรารถนาที่จะประกาศสิ่งที่เขาค้นพบให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้. เขาพยายามบอกเล่าคำสอนของเขาให้กับชาวเมือง Motley Cow (วัวหลากสี) แต่ไม่มีใครสนใจและเข้าใจในคำพูดของเขาเลย นอกจากนักแสดงไต่เชือกคนหนึ่งที่ตกจากเชือกแล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา. Zarathustra เปลี่ยนวิธีการแผยแพร่คำสอนของเขา โดยละเลยที่จะสอน "ฝูง" สามัญชนจำนวนมาก มาเป็นการเทศนาให้กับคนที่ต้องการปลีกตัวจากสังคมเท่านั้น.

ที่ผมบรรยายมาทั้งหมดนี้ อยู่ในสามภาคแรกจากทั้งหมดสี่ภาคของหนังสือ ซึ่งไม่ใช่สาระอะไรเลยในหนังสือเล่มนี้ เพราะ. . .

กล่าวได้เลยว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นวนิยาย แต่เป็นหนังสือปรัชญาล้วนๆ ซึ่งสาระปรากฏอยู่ในคำพูดของ Zarathustra นั่นเอง. การที่ Nietzsche เอาชื่อศาสดาของศาสนา Zoroaster--อธิบายอย่างสั้นที่สุดได้ก็คือ เป็นศาสนาที่เน้นเรื่อง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว--มาเป็นตัวละครนั้น ก็เพียงเพื่อเป็นตัวแทนที่ล้อความคิดแบบอเทวนิยม (aesthetic) ของเขาที่ไม่เชื่อในพระเจ้า [ดังที่ Zarathustra ประกาศว่า God is dead] และความคิดอันหลากหลายของความเป็นสุญนิยม (nihilism) ที่เขาไม่เชื่อในความดีความชั่ว หรือค่านิยมใดๆที่สถาบันทางสังคมกำหนด--ดังที่เขาได้ใช้คำว่า transvaluation of all values ต่อมา. ในคำกล่าวของ Zarathustra นั้น เขาเชื่อในอำนาจของความเป็นมนุษย์ (เขาเรียกว่า will to power) ที่สำแดงความปรารถนา-ความมุ่งมั่นในการยกระดับภาวะความเป็นมนุษย์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเหนือกว่าสัตว์อยู่แล้ว ให้ไปสู่ความเป็น อภิปุรุษ (overman เหนือมนุษย์ หรือในต้นฉบับเขียนว่า Übermensch) เหนือความดี-ความชั่วทั้งปวง; รวมทั้งความคิดในเรื่องสังสารวัฏ (eternal recurrence of the same) ที่สัมพันธ์กัน โดยที่ผู้เป็นอภิปุรุษเท่านั้น ที่จะสามารถหลุดพ้นจากวัฏฏะนี้ได้.

แต่ประเด็นทั้งหมดที่ผมแยกแยะให้เห็นนี้ แทบจะไม่ได้อธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้เท่าไรเลย กอปรกับสำนวนการเขียนของ Nietzsche แบบเพลงเทพสดุดี (dithyramb) ที่แหวกแนวและซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไม่ต่อเนื่อง และเล่มคำแบบปฏิพจน์ (oxymoron) จำนวนมาก จึงทำให้หนังสือเล่มนี้อ่านยากมากๆ ฉะนั้นปรัชญาของเขาที่อยู่ในคำพูดของ Zarathustra จึงเป็นอะไรที่อ่านไม่รู้เรื่องเอาเสียเลยในหมู่ผู้อ่าน เมื่อครั้งที่ทะยอยพิมพ์สามภาคแรกในช่วงปี 1883-1885 ที่แจกจ่ายในวงจำกัด. แต่หนังสือที่ตามมาของเขาได้ไขปริศนาความคิดทั้งหมดที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ทั้ง: Beyond Good and Evil (1886), On the Genealogy of Morality (1887), The Antichrist (1888), จนหนังสือเล่มสุดท้ายคือ Ecce Homo (1888 ที่ Nietzsche อธิบายที่มาที่ไปของงานของเขา) ก่อนที่เขาจะเสียสติในปี 1889 รวมทั้งบันทึกเรื่อง The Will to Power ที่ตีพิมพ์ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วในปีต่อมา. ซึ่งผลงานทั้งหมดที่ตามหลังมาเหล่านี้ ทำให้ Thus Spoke Zarathustra เล่มนี้ กลายเป็นสุดยอดผลงาน (magnum opus) ของ Nietzsche ในที่สุด--แม้ว่าภาคสุดท้ายของเรื่องเป็น finale ที่ไม่ได้ตรึงใจอะไรเอาเสียเลย.

กล่าวได้ว่า Nietzsche เป็นหนึ่งในสี่ของผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดมนุษย์สมัยใหม่มากที่สุดคนหนึ่ง--อีกสามคนคือ Darwin, Marx, และ Freud--และจากหนังสือเล่มนี้ เขาได้เป็นผู้วางรากฐานปรัชญาอัตถิภาวนิยม (existentialism) ที่มีอิทธิพลต่อนักปรัชญาและนักเขียนวรรณกรรมรุ่นหลังจำนวนมาก ทั้ง Martin Heidegger, Thomas Mann, Jacques Derrida, James Joyce, Jean-Paul Sartre หรือ Michel Foucault (คนนี้ดูเหมือน will to power จะครอบงำความคิดของเขาไปทั้งหมด). ด้วยเหตุนี้ผมจึงเอาหนังสือเล่มนี้มาแนะนำให้อ่านกันก่อน ก่อนที่จะนำหนังสือเล่มอื่นๆของ Nietzsche มาแนะนำต่อไปครับ.

ในที่นี้ผมนำเฉพาะ Preface และ Part I ที่ผมตัดจากหนังสือ The Portable Nietzsche (1954) ซึ่งเป็นฉบับแปลของ Walter Kaufmann ที่ยอมรับกันทั่วไป มาให้ลองอ่านกัน. ความจริงแล้วผมมีฉบับแปลของ Alexander Tille (1896) และ Thomas Common (1909) อยู่ด้วย ซึ่งเป็น public domain ไปแล้ว แต่ทั้งสองสำนวนถูกวิจารณ์กันมากว่าผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับภาษาเยอรมันของ Nietzsche; ผมจึงไม่เอามาให้อ่านกันครับ. ล่าสุดมีฉบับแปลใหม่ของ Clancy Martin (2005) เห็นว่าดีกว่าของ Kaufmann แต่ผมยังไม่เคยอ่านครับ. ผมไม่ทราบว่ามีใครแปลเป็นภาษาไทยหรือยัง แต่ที่แน่ๆคือ ใครที่คิดจะมาแปลหนังสือเล่มนี้ได้ ต้อง "บ้า" และเข้าใจปรัชญาของ Nietzsche แบบทะลุทะลวงอย่างแท้จริงเท่านั้น.

ปล: ชื่อรองของหนังสือ (A Book for None and All) เป็นปฏิทรรศน์ (paradox) ที่ Nietzsche แสดงความอหังการที่บ่งบอกว่า หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับสามัญชนผู้ยังเขลาอยู่จำนวนมาก (book for none) แต่ว่าเนื้อหาในเล่มนั้นเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคน (book for all). หากสังเกตงานเขียนของเขา จะเห็นไดว่า Nietzsche ก็เหมือนกับนักปรัชญาตะวันตกร่วมสมัยอีกหลายๆคนโดยเฉพาะ Schopenhauer ที่ได้รับความคิดมาจากอินเดีย โดยเฉพาะจากคัมภีร์อุปนิษทฺ โดยนำความคิดของปราชญ์อินเดียมาประยุกต์ในแบบตะวันตกเท่านั้น--ในขณะที่ปราชญ์อินเดีย (และประเทศใกล้ตัวเรา) จำนวนมากที่ร่วมสมัยในขณะนั้น ยังงมงายอยู่กับแบบแผนทางคตินิยม โดยไม่พัฒนาความคิดจากอดีตอันมีค่า ให้ลึกซึ้งและกว้างไกล ในท่ามกลางโลกที่ดาษดื่นไปด้วยผู้มีความรู้มากในเรื่องน้อยๆ และผู้มีความรู้น้อยในเรื่องมากๆ ดังที่เห็นในปัจจุบัน.

ดาวน์โหลด PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0MjItVU5GQ0EzaXc/view?usp=sharing

ไม่มีความคิดเห็น


หฤทัยแห่งอันธการ แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

หฤทัยแห่งอันธการ
Heart of Darkness โดย Joseph Conrad
แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

สำนักพิมพ์สมมติ
>> วางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
>> อ่านบางส่วนของ คำนำของผู้แปล
ขับเคลื่อนโดย Blogger.