A History of Indian Philosophy, 5 vols (1921-1952) by Surendranath Dasgupta [PDF]
ท่านทาสฺคุปฺตเริ่มเขียนตำราชุดนี้เล่มแรกในขณะที่ท่านยังเป็นนักศึกษาวิจัยระดับป.เอก (ใบที่สองของท่าน) ที่มหาวิทยาลัย Cambridge อังกฤษ -- แต่ thesis ของท่านเป็นเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาตะวันตก -- ซึ่งท่านได้รับการยกย่องจากปราชญ์ชาวตะวันตกมากในความเป็นผู้รู้แจ้งในวิชาปรัชญาไม่เพียงแต่ของอินเดียเท่านั้น. ศิษย์เอกของท่านคนหนึ่งก็คือ Mircea Eliade ผู้เขียน The Myth of the Eternal Return (1954) ซึ่งผมเคยแนะนำหนังสือไปแล้ว. ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่าหนังสือชุดนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะนี่เป็นงานเขียนเกี่ยวกับปรัชญาของอินเดียอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก และเป็นการชำระเนื้อหาที่ค้นคว้ามาจากคัมภีร์ทั้งภาษาบาลี สันสกฤต และปฺรกฺฤติ โดยตรง ซึ่งนับเป็นความพยายามของท่านมาตลอดชีวิตที่ทุ่มเทให้และเป็นคุโนปการที่หาค่าไม่ได้จริงๆ. เนื้อหาของหนังสือชุดนี้ประกอบด้วย:
Vol. I: ปรัชญาพุทฺธ, ไชน และปรัชญาฮินดูทั้งหกสำนัก [สํขย, โยค, นฺยาย, ไวเศษิก, มีมําสา, และ เวทานฺต]. Vol. II: เป็นการศึกษาปรัชญาเวทานฺต ของท่านศงฺกราจารฺย รวมทั้งปรัชญาในคัมภีร์โยควาสิษฺถ ของท่านวาลฺมีกิ (ผู้รจนา 'รามยน') และคัมภีร์ภควตฺคีตา. Vol. III: เป็นการศึกษาหลักปรัชญาทวิภาพและพหุภาพในคัมภีร์ปาญฺจราตฺร รวมทั้งของนักปราชญ์หลายท่านคือ ภาสฺกร, ยมุน, รามานุช, นิมฺภารฺก, วิชญานภิกฺษุ. และยังมีบทวิเคราะห์ปรัชญาของคัมภีร์ปุราณบางเล่มด้วย. Vol. IV: เป็นการศึกษาคัมภีร์ภควตาปุราณ และนักปราชญ์หลายท่านคือ มธฺว, วลฺลภ, ไจตนฺย, ชีวโคสฺวามี, และพลเทววิทฺยภูศน. Vol. V: เป็นการศึกษาคัมภีร์และหลักปรัชญาของลัทธิไศวทางอินเดียใต้ทั้งหมดเช่น ไศวสิทฺธานฺตา, วีรไศว เป็นต้น.
ใครตั้งใจจะอ่านหนังสือชุดนี้คงต้องใช้สมาธิให้มากหน่อยครับ เพราะภาษาที่ท่านทาสคุปฺตเขียนนั้นนับว่าอ่านยากพอควร. ในช่วงที่เขียน 'ทรฺศนปราสาทนครวัด' ผมใช้เวลาอ่านทั้ง ๕ เล่มนี้ เกือบสองเดือน เบ็ดเสร็จแล้วกว่า ๒,๕๐๐ หน้า! และใช่ว่าจะเข้าใจทั้งหมด เพราะการวิพากษ์ปรัชญาของท่านนั้นลึกมากจนบางครั้งแม้อ่านซ้ำหลายๆรอบยังยากจะเข้าใจได้. ณ ปัจจุบันก็ลงหม้อไปจวนจะหมดแล้วครับ. :) หากเทียบหนังสือชุดนี้กับ Indian Philosophy I & II (1923) ของท่านรธกฤษฺนนฺ ที่ผมแนะนำไปแล้วก่อนนี้ หนังสือชุดนี้ของท่านทาสฺคุปฺตอ่านยากกว่ามากมายหลายเท่าครับ แต่ก็ท้าทายสำหรับผู้สนใจปรัชญาอินเดียอย่างจริงจัง. ขอขอบคุณห้องสมุดคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกครั้ง เพราะหนังสือหลายเล่มที่ผมคิดว่าไม่น่าจะมีในห้องสมุดก็กลับมีอยู่จำนวนมาก จนผมประหลาดใจ.
ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม PDF (144MB) >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0SDZCcS1sZ0JTajA/view?usp=sharing
Post a Comment