AsvaGhosa's The Buddhacarita or Acts of the Buddha (1936) by E. H. Johnston [PDF]


เป็นที่ยกย่องกันว่า พุทฺธจริต ของท่านอศฺวโฆษเล่มนี้ เป็นมหากาพย์ร้อยกรองเกี่ยวกับประวัติของพระพุทธเจ้าตามความคิดของพุทธมหายานที่รจนาด้วยภาษาสันสกฤตได้อย่างไพเราะและซาบซึ้งที่สุด. แต่ในบทกวีนี้ ซึ่งมีทั้งหมด ๒๘ สรฺค มีเพียงสฺรคที่ ๑-๑๔ เท่านั้นที่รจนาไว้อย่างสมบูรณ์ในถ้อยคำ -- สรฺคที่ ๑๕-๒๘ ที่สมบูรณ์มีแต่ภาษาทิเบตและภาษาจีนเท่านั้น -- ดังนั้นในฉบับของ Johnston ที่เอามาให้อ่านนี้จึงมีเพียง ๑๔ สรฺคแรกนับจากการประสูติจนถึงเมื่อบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น. ผมคงจะไม่เล่าถึงประวัติของท่านอศฺวโฆษและที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ เพียงแต่อยากออกความคิดเห็นนิดหน่อย. ปรกติผมออกจะไม่ค่อยให้ความสนใจพุทธประวัติที่เหมือนเทพนิยาย แม้จะเข้าใจได้อยู่ว่าการผสมจินตนาการและปาฏิหาริย์ (phantasmagoric) เข้าไปก็เพื่อสร้างศรัทธา-ปสาทะแก่ผู้ยังไม่อาจเข้าใจในหลักอภิธรรมได้ -- อาการเช่นนี้แสดงความเสื่อมของพุทธศาสนาที่แท้จริงมุ่งเน้นเรื่องเหตุ-ปัจจัย แต่สุดท้ายก็ต้องมาเดินตามแนวทาง ภกฺติโยค ของฮินดู -- แต่เมื่อได้อ่านเล่มนี้แล้ว ต้องยอมรับเลยว่า. . .

ท่านอศฺวโฆษผสมผสานทั้งศิลปะของกวีนิพนธ์และพุทธประวัติ ที่แฝงจริยธรรมและหลักธรรมของพุทธศาสนาไว้ได้อย่างกลมกลืนยิ่ง อันสร้างศรัทธาที่มีต่อจริตของพระพุทธองค์ ในจิตใจของผู้เลื่อมใสได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ โดยเฉพาะในสรฺคที่กล่าวถึงภาวะของพระองค์ก่อนเข้าสู่นิรฺวาน อันอาจชวนให้ผู้มีจิตศรัทธามุ่งปฏิบัติศีลเพื่อยกระดับภาวะของตนให้เป็นอิสระจากปัจจัยภายนอกก่อนนำไปสู่การปฏิบัติธรรมให้บรรลุสู่นิรวาณเฉกเช่นพระพุทธองค์ก็เป็นได้. ลักษณะของบทกวีที่อิงศาสนาเพื่อยกระดับจิตใจผู้อ่านให้สูงขึ้นสู่ภวังค์เช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็น mystical hermeneutics โดยผ่านเนื้อหาในฉันทลักษณ์และจังหวะของการร่ายบทกวีที่บังเกิดในประสบการณ์ของผู้อ่านเอง ซึ่งท่านอศฺวโฆษบรรลุแล้วที่ทำได้ถึงจุดนั้น.

ผมเลือกฉบับของ Johnston เพราะฉบับนี้มีทั้งบทกวีสันสกฤต อักษรเทวนาครี และบทแปลที่มี note ประกอบและถ้อยคำที่แปลดีกว่าของ E. B. Cowell (Sacred Books of the East, Vol.49). ผมเห็นฉบับพิมพ์ใหม่ (ตามปก) มีแปลสรฺคที่ ๑๕-๒๘ ด้วย แต่ผมก็ยังไม่เคยอ่าน. พุทฺธจริต ฉบับแปลเป็นภาษาไทย โดย อ.กรุณา-อ.เรืองอุไร กุศลาสัย ก็แปลได้ดีทีเดียว. หากอยากอ่านเปรียบเทียบก็ลองไปหาอ่านกันดูครับ.

ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม PDF >>>https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0WWFSdGJDWU5yV1E/view?usp=sharing.

ไม่มีความคิดเห็น


หฤทัยแห่งอันธการ แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

หฤทัยแห่งอันธการ
Heart of Darkness โดย Joseph Conrad
แปล-วิเคราะห์: เกียรติขจร ชัยเธียร

สำนักพิมพ์สมมติ
>> วางจำหน่ายแล้วในร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
>> อ่านบางส่วนของ คำนำของผู้แปล
ขับเคลื่อนโดย Blogger.