Thailand A Short History (1982) by David K. Wyatt [Intro & Chap.1-3 | PDF]
หากถามว่าหนังสือประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เหมาะให้เป็นแบบเรียนมาตราฐานในโรงเรียนควรเป็นเล่มใด ผมคิดว่า ณ ปัจจุบันคงมีแต่หนังสือของ Wyatt เล่มนี้กระมังที่เหมาะสม. แม้หนังสือเล่มนี้จะไม่สมบูรณ์เสียที่เดียวนัก และก็ไม่ได้มีการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง -- ก็อย่างที่ Wyatt กล่าวนำไว้ว่านี่เป็นเพียงภาพหนึ่งของประติมากรรม (อุปมาถึงประวัติศาสตร์) ทั้งหมด -- แต่ให้ภาพโดยรวมของประวัติศาสตร์ไทยและความสัมพันธ์ของชนชั้นปกครองกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างกว้างขวางทีเดียว ในแบบแผนประวัติศาสตร์นิพนธ์ของนักวิชาการทางประวัติศาสตร์. Wyatt เล่าความเป็นมาของชาวไทนับจากการก่อตัวจนมาเป็นกลุ่มรัฐที่มีอยุธยาเป็นใหญ่ ก่อนที่จะถูกรวบอำนาจในสมัยรัตนโกสินทร์ จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่รัฐสมัยใหม่โดยมาสิ้นสุดถึงปี 1982 (ฉบับ 2nd edition มาจบที่ปี 2002). แต่สิ่งที่ขาดหรือน้อยเกินไปของหนังสือเล่มนี้คือ มุมมองทางรัฐศาสตร์และมานุษยวิทยา เพราะ. . .
Wyatt ดูเหมือนจะเน้นในเรื่องลำดับของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยไม่ได้ให้มิติของการเมือง-การปกครองและการพัฒนาเชิงสังคม รวมทั้งอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบเถรวาท (ที่ผสมความเชื่อพื้นบ้านในหมู่ประชาขน และที่ผสมกับพราหมณ์ฮินดูในราชสำนัก) และคติความเชื่อต่างๆเท่าใดนัก. แต่สิ่งนี้คงเป็นการเรียกร้องจากเขามากเกินไป โดยเฉพาะกับประวัติศาสตร์ไทยที่ยิ่งห่างไกลออกไป เพราะหลักฐานที่ใช้ในการเขียนและวิเคราะห์นั้นคงมีเพียงการวิเคราะหฺ์ความสัมพันธ์ทางภาษาและชาติพันธุ์ หรือหากใกล้มาอีกหน่อยก็เป็นการประมวลมาจากพงศาวดาร ตำนาน จารึก หรือจดหมายเหตุ ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องและเป็นมุมมองของชนชั้นผู้ปกครองที่มองตนเองเท่านั้น และที่บันทึกนั้นจำนวนหนึ่งก็ยังเป็นที่น่าเคลือบแคลงอยู่ไม่น้อย -- ส่วนบันทึกของชาวต่างชาติที่เขียนถึงไทยก็มีบ้าง แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยกล่าวถึงกันในแง่มุมที่ต่างจากประวัติศาสตร์กระแสหลักเท่าไรนัก. กระนั้น Wyatt ก็ได้พยายามรวบรวมงานศึกษาที่หลากหลายและไม่ปรากฏในแบบแผนการเรียนประวัติศาตร์ของไทย -- ยกตัวอย่างเช่น The Rise of Ayudhya: A History of Siam in the 14th and 15th centuries (1976) ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ป.เอกของอ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่วิเคราะห์กำเนิดของอโยธยาและที่มาของกษัตริย์อู่ทองได้อย่างเป็นระบบยิ่ง เป็นต้น -- ซึ่งนับว่าเขาทำได้ดีมากแล้ว จนกว่าจะมีใครที่จะทำได้ครบถ้วนดีกว่าเขาในอนาคต. เขียนถึงนี่แล้วทำให้คิดถึง จิตร ภูมิศักดิ์ เพราะหากเขาไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เราอาจได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ดีๆอย่างชื่อ "ประวัติศาสตร์ของประชาชนแห่งสยามประเทศ" ก็เป็นได้.
ในท้ายเล่ม Wyatt ยังแจกแจง Further Reading ให้ตามอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องในช่วงสมัยประวัติศาสตร์ต่างๆด้วย. ในที่นี้ผมตัดเฉพาะ Introduction, Chap 1: The Beginnings of Tai History, Chap 2: The Tai and the Classical Empires, a.d. 1000-1200, และ Chap 3: A Tai Century, 1200-1351 มาให้อ่านเท่านั้น. ผมเห็นข่าวการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ที่เพิ่งจะแปลเป็นภาษาไทยเมือปีที่ผ่านมา (๒๕๕๖) หลังจากที่ฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ขายมานานกว่าสามสิบปีมาแล้ว. ลองไปหาอ่านกันนะครับ.
ดาวน์โหลด PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0T0Rid04zVDFwdVk/view?usp=sharing
Post a Comment