Angkor: An introduction (1963) by George Coedes [Chap 1-3 | PDF]
หนังสือเล่มนี้เหมือนจะเป็น dogmatic treatise ของผู้สนใจประวัติศาสตร์ขอมในบ้านเราไปเสียแล้ว. หากเทียบกับ The Indianized States of Southeast Asia (1964) ซึ่งเขียนอย่างระมัดระวังมากกว่าแล้ว หนังสือเล็มบางที่สรรค์สร้างโดยปรมาจารย์ Coedes เล่มนี้ ซึ่งตั้งใจเขียนเพื่อผู้อ่านทั่วไป กลับสร้างความเชื่อที่ครอบงำความคิดและความเชื่อในประวัติศาสตร์ขอมในวงกว้างได้อย่างสะกดใจมากกว่า โดยเฉพาะสำหรับผู้อ่านที่มีแนวโน้มจัดอยู่ในจำพวก doctrinal หรือที่ไม่ใช่จำพวก skeptical. จริงอยู่ว่านักวิชาการฝรั่งเศสเขียนประวัติศาสตร์ขอมจากหลักฐานทางจารึก ซึ่งควรอยู่บนพื้นฐานของวิชานิรุกติศาสตร์ (philology) หรือศัพทมูลวิทยา (etymology) ที่ศึกษาพัฒนาการการใช้ภาษาและความหมาย หรือกำหนดอายุตัวอักษร กอปรกับความรู้ในปฏิทินโบราณ ซึ่งช่วยได้เพียงแต่การกำหนดเวลาในจารึก และระบุไดว่ามีใครบ้างที่ถูกเอ่ยถึงในจารึก ณ ปราสาทนั้นๆ ซึ่งพอจะเชื่อมโยงได้กับใครในจารึกอื่นๆ. แต่กล่าวได้ว่ามีจารึกจำนวนไม่มากนักที่บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ในเชิงประวัติศาสตร์ -- ที่เห็นได้ชัดคือจารึกปราสาทสด๊อกก๊อกธม -- และสิ่งที่บันทึกก็ไม่ได้เขียนแบบตรงไปตรงมาเหมือนกับที่ Coedes หรือนักอ่านจารึกคนอื่นๆแปลเสร็จสรรพให้เป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด. . .
ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของขอมที่เล่าเรื่องอย่างเป็นตุเป็นตะนั้น ล้วนเกิดจากการตีความที่บ่อยครั้งมาจากการตั้ง premise จากมโนของปรมาจารย์เหล่านี้ ต่อคำต่างๆที่ปรากฏในจารึกให้เชื่อมโยงในเชิงสัญลักษณ์กับความหมายบางอย่างที่ตนกำหนดก่อนที่จะนำมาเข้าระบบตรรกะแบบ syllogism เพื่อให้ได้ข้อสรุปบางประการ โดยพวกเขาจะพยายาม ด้วยความอุตสาหะยิ่ง นำมาร้อยเรียงให้เชื่อมกันแล้วดูเนียนที่สุด โดยอะไรที่ไม่เข้ากันได้ก็ละเอาไว้เสีย ก่อนที่จะผสมเรื่องราวในจินตนาการของตนเองเข้าไปอย่างน่าสนุกสนาน. การมี premise ที่ผิด ย่อมนำไปสู่ข้อสรุปที่วิบัติในตัวเองอยู่แล้ว วิธีการเขียนประวัติศาสตร์ที่ห่างไกลเช่นนี่จึงเป็นเหมือนกับศิลปะในเชิงวาทศาสตร์ (rhetorics) หรือหากจะกล่าวอย่างไม่เกรงใจคือการ 'สร้างเรื่อง' เพียงแต่ว่าใครจะสร้างเรื่องได้เนียนกว่ากันในหมู่พวกเขา ประวัติศาสตร์ชุดนั้นๆก็จะได้รับความเชื่อถือมากกว่า ก็เท่านั้น -- นี่ผมยังไม่นับแรงจูงใจทางการเมืองในความเป็นเจ้าอาณานิคมเข้าไปด้วย. ไม่จำเป็นต้องเชื่อผมครับ แต่ลองไปหาบทความวิชาการว่าด้วยการอ่านจารึก -- ตั้งแต่สมัยเริ่มต้นอย่าง Abel Bergaigne มาจนถึงสมัยของ Coedes -- มาศึกษาดูอย่าง critical thinking และลองอ่านแนวคิดของหนังสือเรื่อง White Mythologies ของ Robert J.C. Young ที่ผมแนะนำก่อนนี้มาอ่านประกอบ ก็จะพิจารณาด้วยตนเองได้. ดังนั้นตราบเท่าที่ยังไม่มีใครอาจหาญที่จะแหวกความคิดของนักโบราณคดีฝรั่งเศส ที่ตั้งตนเป็น authentic ซึ่งครอบงำอยู่ให้ออกมาได้ รวมทั้งแหวกกำแพงนักวิชาการปัจจุบันที่หวงความเชื่อของตนอย่างจงรักภักดียิ่งแล้ว เราคงมีทางเลือกสองทางคือ หนึ่งยอมรับประวัติศาสตร์ตามนั้น หรือไม่ก็หาแนวทางศึกษาเรื่องอื่นที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาเพื่อนำมาประยุกต์เพื่อความรู้ในปัจจุบันดีกว่า. สรุปเอาเป็นว่า อ่านเล่มนี้เหมือนอ่านนิทานสนุกๆ แต่จะได้คำถามที่น่ากังขามากมายในความคิด -- ทั้งในเนื้อหา รวมทั้งในตัวผู้ประพันธ์เอง.
เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ยังไม่เป็น public domain ดังนั้นผมจึงนำเอาแต่ Chap 1-3 มาให้อ่านกันครับ. ฉบับแปลภาษาไทยโดย อ.ปรานี วงษ์เทศ หาอ่านได้ไม่ยากครับ.
ดาวน์โหลด PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-pnQPT61FsJbklTUjRWMUZFZ1E/edit?usp=sharing
Post a Comment