The Republic of Plato (1968 | 1890) by Allan Bloom [Interpretive Essay | PDF] and John Llewelyn Davies [PDF]
หากใครที่อยากจะเข้าใจความเป็นตะวันตกอย่างแท้จริงแล้ว The Republic คือหนังสือเล่มหนึ่งที่ต้องอ่าน เพราะหนังสือเล่มนี้คือพื้นฐานความคิดในเรื่องของการให้ความหมายของความเป็นธรรม (justices) ความไม่เป็นธรรม (unjustice) และในเรื่องของรูปแบบและการจัดองค์กรของอุตมรัฐหรือรัฐในอุดมคติ (ขอย้ำว่าในอุดมคติ) ตามความคิดของ Socrates -- อาจารย์ของ Plato ซึ่ง Plato เอง ก็คงจะผสมโรงความคิดของเขาเข้าไปด้วยอยู่ไม่น้อย. นอกจากนั้นในเล่มนี้ยังกล่าวถึงทฤษฎีหลายๆอย่าง เช่น ทฤษฏีของสสารและภาวะ (theory of forms) หรือบทบาทของปราชญ์และศิลปะอันพึงมีต่อสังคม. The Republic เขียนขึ้นในรูปแบบของบทสนทนาที่ Socrates มีกับหลายๆคน โดยแทรกความคิดต่างๆเข้าไปในบทสนทนาเหล่านั้น ซึ่งมีการอ้างอิงกาละ-เทศะในช่วงเวลาที่ร่วมสมัยขณะนั้นอยู่ด้วย ดังนั้นเวลาอ่านอาจทำให้สับสนไปบ้างสำหรับผู้เพิ่งเริ่มอ่าน แต่หากตัดส่วนนี้ออกไปและพิจารณาเฉพาะเนื้อหาแล้ว จะเห็นว่าความคิดทั้งหลายเหล่านั้นเป็นพื้นฐานของทฤษฏีและปรัชญาที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน. ไม่เพียงเท่านั้น ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเข้าใจการเมืองในประเทศนี้มากขึ้น. ทำไมฤๅ?. . .
ในความคิดเห็นของผม elite รวมทั้งนักคิดอาวุโสบางท่านของบ้านเรา ดูเหมือนจะยึดมั่นกับความคิดของชาติรัฐตามแบบอย่างในอุดมคติของ Socrates และ Plato ในหนังสือเล่มนี้อยู่ไม่น้อย. แต่มันยังเป็นความคิดและความเชื่อแบบไทยๆ โดยพวกเขาจะพูดถึงประชาธิปไตยอย่างเสียไม่ได้ แต่ในใจของพวกเขานั้นปฏิเสธ ตามอย่างของ Socrates และ Plato ที่ปฏิเสธ -- ทั้งที่นยะในทางปฏิบัติของคำว่า democracy ในสมัยของ plato และปัจจุบันนั้น แตกต่างกันอยู่ไม่น้อย. การอ้างอุดมรัฐจากหนังสือ The Republic แบบไทยๆจึงเป็นเพียงการนำเอามาเป็นกระพี้เพื่อซ่อนเร้นความเชื่อที่อยู่ในแก่น ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่พวกเขานำมากล่าวอ้าง -- ดังเห็นได้จากลักษณะของรัฐในอุดมคติของพวกเขานั้น ดูเหมือนจะเชิดชูคุณธรรม (virtue) อย่างมากมายเหลือเกิน รวมทั้งลักษณะผู้ปกครองแบบ the philosopher-king ตามความคิดของ Plato จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ที่ย่อมมีความถูก-ผิดอันเป็นธรรมดา -- และคนดีที่เป็นปราชญ์ผู้ทรงคุณธรรมที่ยิ่งมีอำนาจนั้น ดูเหมือนจะยิ่งมีความผิดพลาดและควบคุมไม่ได้ แถมไม่ยอมให้ควบคุมอีกต่างหาก -- หรือความเชื่อใน eudaimonia ที่ตัดแต่งใหม่ให้แปลงร่างมาเป็น "ความพอเพียง" หรือความเชื่อที่ว่าพลเมืองหัวอ่อน-เชื่ออะไรง่ายๆ (credulity) เหลาะแหละ (fickleness) จึงไม่อาจนำพารัฐไปสู่ความรุ่งเรืองได้นอกเสียจากคนที่มีบุญญาธิการหรือปราชญ์ในกลุ่มของพวกตนเท่านั้น เป็นต้น. ดังนั้นรูปแบบของรัฐที่พวกเขาต้องการจริง ดูเหมือนจะคือ aristocracy -- ที่มีวาระซ่อนเร้นเป็น oligarchy -- มากกว่าจะเป็น politeia (หรือ polity แต่ความหมายแตกต่างจากที่เข้าใจทั่วไป) ตามอุดมคติของ Socrates และ Plato ทั้งที่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า Socrates ยังถือว่า democracy นั้นดีว่าการปกครองระบอบอื่นที่ต่ำกว่า แม้ว่าเขาจะปฏิเสธ democracy ด้วยเหตุผลที่เขาเห็นตัวอย่างความล้มเหลวของรัฐประชาธิปไตยร่วมสมัยที่กลายไปสู่รัฐที่ใช้อำนาจเด็ดขาด (despotism) ในบั้นปลาย ก็ตามที.
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ความคิดในหนังสือเล่มนี้ดูเหมือนจะคล้ายคลึงกับคัมภีร์หลุนอวี่ (analects) ของขงจื้อเอามากๆ -- ขงจื้อมีชีวิตก่อนเพลโตประมาณร้อยกว่าปี. ปรัชญาการเมืองของขงจื้อโดยเฉพาะในเรื่องคุณลักษณะของผู้ปกครองและการสร้างประเพณีหรือพิธีกรรมเพื่อมาเป็นกลไก (apparatus) ในการยกระดับคุณธรรมของประชาราษฏ์ โดยมีกษัตริย์เป็นเยี่ยงอย่าง เพื่อนำพารัฐไปสู่อุดมคติ และอื่นๆ ก็ปรากฏในหนังสือเล่มนี้เช่นกัน. จึงดูเหมือนว่าความบังเอิญเช่นนี้ออกจะบังเอิญอยู่ไม่น้อย.
รู้สึกจะเขียนมากเกินไปแล้ว. เอาเป็นว่าทุกคนควรอ่านครับ. The Republic มีแปลกันมากมายหลายฉบับ แต่ฉบับที่ผมชอบที่สุดคือของ Allan Bloom เพราะเขาแปลโดยปราศจากความเป็น christianity ผสมเข้าไปด้วย อีกทั้งเขายังเขียนหมายเหตุประกอบอย่างละเอียด และมีบทความว่าด้วยการตีความของเขาทำให้เข้าใจนยะของ The Republic มากขึ้น. แต่เนื่องจากฉบับแปลของ Bloom ยังมีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ ดังนั้น ผมจึงตัดเอาเฉพาะ Interpretive Essay ของเขามาให้อ่านควบคู่กับฉบับเต็มของ John Llewelyn Davies ซึ่งก็นับว่าใช้ได้ดีทีเดียวและมีบทวิเคราะห์ให้ด้วยครับ.
ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม PDF >>>https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0TE1YVmdwR0lRMEk/edit?usp=sharing
Post a Comment