Vishnu Purana, 5 vols (1864) by H. H. Wilson [PDF]
คัมภีร์วิษณุปุราณถือเป็นคัมภีร์ทางปุราณวิทยา (mythology) ที่สำคัญของอินเดียที่เป็นรองก็เพียงคัมภีร์มหาภารต-ภควัตคีตาและรามยนเท่านั้น. คัมภีร์นี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหลายๆอวตารของพระวิษณุนับจากการสร้างจักรวาลเป็นต้นมา รวมทั้งวงศาวิทยา (genealogy) ของพระกฤษฺณและกษัตริย์อินเดียที่สัมพันธ์กับคัมภีร์มหาภารตและรามายน ไปจนถึงสงครามระหว่างเทพและมารทั้งหลาย. แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ เนื้อหาทั้งหมดของคัมภีร์ซึ่งประกอบด้วย ๑๒๖ อธยาย (บท) ในทั้งหมด ๖ อํศ (ภาค) ไม่ได้เป็นเพียงตำนานหรือนิทานที่เอาไว้สอนชาวฮินดูในทางจริยศาสตร์เท่านั้น เพราะหากว่าเราอ่านในมิติที่ลึกไปกว่าเนื้อหาที่เป็นกระพี้เหมือนนิทาน หลายๆเรื่องที่เขียนในคัมภีร์นี้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจักรวาลวิทยา ทั้งการกำเนิดและภูมิศาสตร์ของจักรวาล รวมทั้งการกำเนิดของกาละ-เทศะ (time-space) ซึ่งเขียนไว้ในสามอํศแรก -- อํศที่ ๑ (๒๓ อธยาย) อํศที่ ๑ (๑๖ อธยาย) และ อํศที่ ๓ (๑๘ อธยาย)-- มันแฝงนยะที่ชวนให้ฉงนและสนเทห์มากเพราะมันสามารถอธิบายบางอย่างได้ด้วยหลักการดาราศาสตร์ (astronomy) จักรวาลวิทยา (cosmology) และภูมิศาสตร์-ภูมิประเทศ (geography & topography) สมัยใหม่ ไปจนถึงฟิสิกส์ quantum สมัยใหม่ อย่างเช่น Bell's Theorem ได้ทีเดียว! เพียงแต่ว่าเราต้องมองมันในมุมมองที่พิสดารกว่าปรกติ -- Tao of Physics ก็เป็นมุมมองหนึ่งที่ Fritjof Capra มีต่อคัมภีร์เวทานฺตของอินเดีย เช่นเดียวกับ Bohr หรือ Heisenberg. วันหลังผมจะแนะนำหนังสือเล่มอื่นที่วิเคราะห์ในเชิงที่กล่าวนี้ให้อีกที. . .
สำหรับคนที่สนใจในประติมานวิทยา (iconography) ของศิลปะขอม รับรองว่าอ่านคัมภีร์เล่มนี้แล้วจะเล่าเรื่องทับหลังหรือภาพสลักนูนต่ำ (bas-relief) ได้เป็นเรื่องเป็นราวและเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพราะประติมากรรมกว่าหนึ่งในสามของขอมทั้งหมด สลักจากเรื่องราวในคัมภีร์เล่มนี้นั่นเอง. และแน่นอนว่ารวมทั้งศิลปะของอินเดียและประเทศทั้งหลายที่ได้อิทธิพลจากอินเดีย. ใครที่ศึกษาศิลปะเหล่านี้ หากไม่ได้อ่านคัมภีร์เล่มนี้แล้ว ผมถือว่ายังสอบไม่ผ่านครับ.
ดาวน์โหลด ฉบับเต็ม PDF >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0a0c1TzBGMzVrakU/edit?usp=sharing [95MB]
และ abridged version ของชุดหนังสือเล่มนี้ >>> https://drive.google.com/file/d/0B-IkyUou3dP0SEpfQ295RER0ams/view?usp=sharing
ผมเคยเขียนบทความเรื่อง 'สารัตถะแห่งกาละในสถาปัตยกรรมปราสาทนครวัด' ตีพิมพ์ใน "ฮอมภูมิ" ฉบับที่ ๑ นานมาแล้ว ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เนื้อหาที่มาจากคัมภีร์เล่มนี้ไว้ด้วย ลองดาวน์โหลดไปอ่านกันนะครับ.
Post a Comment